ผู้เขียน หัวข้อ: ข้อมูลโรคภาวะน้ำเกินในโพรงสมอง (Normal pressure hydrocephalus/NPH)  (อ่าน 85 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 565
  • ผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรม โพสฟรี
    • ดูรายละเอียด
ข้อมูลโรคภาวะน้ำเกินในโพรงสมอง (Normal pressure hydrocephalus/NPH)
« เมื่อ: วันที่ 14 มิถุนายน 2024, 15:31:40 น. »
ข้อมูลโรคภาวะน้ำเกินในโพรงสมอง (Normal pressure hydrocephalus/NPH)

ภาวะน้ำเกินในโพรงสมอง,ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง,ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ,ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำชนิดความดันปกติ

ภาวะน้ำเกินในโพรงสมอง (ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำชนิดความดันปกติ ก็เรียก) เป็นโรคทางสมองชนิดหนึ่ง ที่ทำให้มีอาการผิดปกติเกี่ยวการเดินเป็นหลัก และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย

ภาวะน้ำเกินในโพรงสมองแบ่งเป็นชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ กับชนิดทุติยภูมิ (มีสาเหตุ)

ภาวะน้ำเกินในโพรงสมองชนิดไม่ทราบสาเหตุ (idiopathic normal pressure hydrocephalus/iNPH) มักพบในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และส่วนใหญ่จะพบในผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป* พบในผู้ชายและผู้หญิงพอ ๆ กัน ผู้ป่วยจะเริ่มปรากฏอาการเมื่ออายุ 70 ปีโดยเฉลี่ย สำหรับกลุ่มอายุน้อยกว่า 65 ปี จะพบได้น้อย* และโรคนี้พบได้ประมาณร้อยละ 6 ของผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมทั้งหมด

ภาวะน้ำเกินในโพรงสมองชนิดทุติยภูมิ (secondary normal pressure hydrocephalus) ซึ่งมีสาเหตุจากภาวะผิดปกติทางสมองอื่น ๆ พบได้ในคนทุกวัย

ภาวะน้ำเกินในโพรงสมองสามารถรักษาด้วยการผ่าตัดฝังสายระบายน้ำ จัดว่าเป็นโรคทางสมองในผู้สูงอายุชนิดหนึ่งที่สามารถรักษาให้หายได้

*มีรายงานว่าผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปเป็นโรคนี้ ร้อยละ 0.2-2.9 และมีรายงานว่าคนสวีเดนที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป พบโรคนี้ถึงร้อยละ 5.9 สำหรับผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 65 ปีพบโรคนี้เพียงร้อยละ 0.003

สาเหตุ

โพรงสมอง (ventricle) หมายถึงโพรงที่อยู่ภายในสมอง ภายในโพรงสมองจะมีน้ำไขสันหลัง (cerebrospinal fluid) บรรจุอยู่ น้ำไขสันหลังทำหน้าที่หล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (นำสารภูมิต้านทาน และสารสื่อประสาทไปให้ และนำของเสียไปขับออก) และช่วยดูดซับแรงกระเทือนจากภายนอกเพื่อปกป้องสมองและไขสันหลัง ปกติสมองสร้างน้ำไขสันหลัง ซึ่งจะไหลเวียนในโพรงสมองและไขสันหลัง และถูกดูดกลับเข้ากระแสเลือดในลักษณะที่สมดุลกัน ทำให้น้ำในโพรงสมองมีไม่มากหรือน้อยเกินไป  แต่หากมีสภาวะที่ทำการไหลเวียนหรือการดูดกลับของน้ำไขสันหลังผิดปกติ ก็จะทำให้น้ำในโพรงสมองเกิดการคั่งมากกว่าปกติ โดยที่ความดันในกะโหลกศีรษะยังเป็นปกติ จึงเรียกว่า “ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำชนิดความดันปกติ” แต่นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า “ภาวะน้ำเกินในโพรงสมอง”

น้ำที่คั่งในโพรงสมอง จะดันให้โพรงสมองมีขนาดใหญ่ขึ้น และเกิดแรงกดเบียดเนื้อสมองโดยรอบ ทำให้เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ ซึ่งหากแก้ไขได้เร็ว อาการก็ทุเลาหายไปได้ แต่หากปล่อยให้เนื้อสมองถูกกดเบียดเป็นระยะเวลานาน เซลล์สมองก็จะถูกทำลายอย่างถาวร

ภาวะน้ำเกินในโพรงสมองในผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่เป็นภาวะน้ำเกินในโพรงสมองชนิดไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งจะตรวจไม่พบว่ามีภาวะหรือโรคอื่นใดที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคนี้ขึ้นมา สันนิษฐานว่าเกิดจากการเสื่อมของร่างกายตามวัย

ส่วนภาวะน้ำเกินในโพรงสมองชนิดทุติยภูมิ ผู้ป่วยมักมีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกสมอง สมองอักเสบ หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือมีประวัติศีรษะได้รับบาดเจ็บหรือเคยได้รับการผ่าตัดสมองมาก่อน

อาการ

ผู้ป่วยมีอาการเดินผิดปกติเป็นหลัก อาจมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่ได้ สมองเสื่อม พูดน้อย เสียงแหบ หรือสำลักบ่อยร่วมด้วย โดยอาการเหล่านี้จะค่อย ๆ เป็นมากเรื่อย ๆ ในช่วงเวลา 6-12 เดือน หรือเป็นแรมปี

เริ่มแรกผู้ป่วยจะมีการเดินที่ผิดปกติ เช่น เดินช้า เดินซอยเท้า ก้าวขาสั้น ๆ ระยะต่อมาจะมีอาการเดินยกเท้าไม่พ้นจากพื้นเหมือนเท้ามีกาวทาติดไว้กับพื้น และเวลาเดินผู้ป่วยจะกางเท้าออก เพื่อรักษาสมดุลไม่ให้ล้ม เมื่อมีอาการมากขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการทรงตัวไม่ดี นั่งตัวเอน เดินเซ และล้มบ่อย (ซึ่งมักเป็นสาเหตุที่ทำให้นำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์) อาการจะแย่ลงเรื่อย ๆ จนในที่สุดอาจเดินไม่ได้


ต่อมา ผู้ป่วยจะมีอาการข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อดังต่อไปนี้ตามมา

    กลั้นปัสสาวะไม่ค่อยได้ โดยเริ่มแรกจะมีอาการปัสสาวะบ่อย เวลารู้สึกปวดปัสสาวะจะต้องรีบไปเข้าห้องน้ำทันที หากไปไม่ทันก็จะมีปัสสาวะเล็ด เมื่อเป็นมากขึ้นผู้ป่วยจะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ มีอาการปัสสาวะราดโดยไม่รู้ตัว (ผู้ป่วยมักต้องใส่ผ้าอ้อมไว้)
    อาการสมองเสื่อม เช่น ญาติสังเกตเห็นผู้ป่วยมีอาการคิดช้า ทำอะไรช้าลงกว่าเดิมมาก ความจำแย่ลง หลงลืมบ่อย ขาดสมาธิ ตัดสินใจหรือตอบสนองช้า กลางวันมีอาการนั่งหลับ ง่วงซึม หรือนอนมาก บางรายอาจมีอาการสับสน อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า (ไม่ยิ้มแย้มแจ่มใส นั่งร้องไห้)
    อาการผิดปกติเกี่ยวการพูดและการกลืน ผู้ป่วยจะพูดน้อย เสียงเบาหรือเสียงแหบ กลืนลำบาก สำลักบ่อยเวลากินอาหารหรือดื่มน้ำ เวลานอนอาจสำลักน้ำลายตัวเอง (ตื่นขึ้นมาไอตอนกลางคืน)

ภาวะแทรกซ้อน

หากปล่อยไว้ หรือไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจมีภาวะแทรกซ้อน ดังนี้   

    กระดูกหักหรือศีรษะได้รับบาดเจ็บจากการหกล้ม ซึ่งอาจมีอันตรายร้ายแรงได้ เช่น กระดูกต้นขาหัก เลือดออกในสมอง เป็นต้น
    ปอดอักเสบจากการสำลัก
    สูญเสียคุณภาพชีวิตเนื่องจากการเดินไม่ได้ และ/หรือภาวะสมองเสื่อม
    อาจนอนติดเตียงและเกิดแผลกดทับ ซึ่งพบได้น้อย ภาวะนี้จะเกิดกับผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาจนมีอาการรุนแรง

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย ซึ่งมีสิ่งตรวจพบ ดังนี้

มักตรวจพบความผิดปกติเกี่ยวกับการเดินและการทรงตัว เช่น เดินช้า เดินซอยเท้า ก้าวสั้น ๆ ก้าวเท้าไม่พ้นจากพื้น เดินกางเท้าออก เดินเซ นั่งตัวเอน ยืนหรือเดินในท่าโน้มตัวไปข้างหน้า

อาจพบอาการอื่น เช่น ได้กลิ่นปัสสาวะที่ถ่ายราดติดกางเกงหรือผ้าอ้อม คิดช้า พูดช้า พูดน้อย ตอบคำถามช้า ทำอะไรชักช้างุ่มง่าม เสียงแหบ หน้าซึมเศร้า


แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด ดังนี้

    ถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งจะพบว่าโพรงสมองของผู้ป่วยโรคนี้มีขนาดใหญ่ผิดปกติ
    ทำการเจาะหลัง (lumbar puncture) นอกจากทำการวัดความดันของน้ำไขสันหลัง (ซึ่งพบว่ามีค่าปกติ) แล้ว แพทย์จะทำการทดลองระบายน้ำไขสันหลัง (tap test) ซึ่งช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยและการวางแผนการรักษา โดยระบายน้ำออกมา 40-60 มิลลิลิตร ถ้าหลังการระบายน้ำ พบว่าผู้ป่วยเดินได้ดีขึ้นชั่วคราว แสดงว่าผู้ป่วยเป็นโรคนี้ และจะได้ประโยชน์มากจากการรักษาด้วยการผ่าตัดฝังตัวระบายน้ำ

การรักษาโดยแพทย์

สำหรับโรคน้ำเกินในสมอง แพทย์จะทำการผ่าตัดฝังสายระบายน้ำ (shunt) ไว้ใต้ผิวหนัง โดยจะฝังสายระบายน้ำจากโพรงสมองเข้าสู่ช่องท้อง หรือจากช่องไขสันหลัง (บริเวณหลังส่วนล่าง) เข้าสู่ช่องท้อง (ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเลือกให้เหมาะกับสภาพของผู้ป่วยแต่ละราย) แล้วน้ำที่ระบายออกมาในช่องท้องก็จะถูกดูดซึมออกไปโดยเยื่อบุช่องท้อง ทำให้ลดการคั่งของน้ำในโพรงสมองลงได้ อาการต่าง ๆ ก็จะทุเลาลงได้อย่างรวดเร็ว

หลังผ่าตัดแพทย์จะให้ผู้ป่วยพักรักษาที่โรงพยาบาล เพื่อสังเกตอาการและป้องกันหรือแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะอยู่โรงพยาบาลเพียงไม่กี่วัน ก็กลับไปพักฟื้นที่บ้านได้

หากพบว่าผู้ป่วยเป็นภาวะน้ำเกินในสมองชนิดทุติยภูมิ แพทย์จะทำการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ (เช่นเนื้องอกสมอง โรคหลอดเลือดสมอง) ไปพร้อมกัน

นอกจากนี้ สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาการเดินมาเป็นเวลานาน มีกล้ามเนื้อขาลีบและอ่อนแรง แพทย์ก็จะทำการฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วยด้วยการทำกายภาพบำบัด (ฝึกยืน ฝึกเดิน) ซึ่งกว่าจะฟื้นตัวได้ดีอาจใช้เวลาฝึกอยู่นานหลายเดือน

ผลการรักษา ส่วนใหญ่จะได้ผลดี อาการต่าง ๆ จะทุเลาลงได้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัดฝังสายระบายน้ำ เช่น หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสขึ้น ก้าวเดินได้ดีขึ้น สำลักน้อยลง พูดได้ดีขึ้น เสียงแหบน้อยลง กลั้นปัสสาวะได้ดีขึ้น แล้วต่อมาก็จะค่อย ๆ ฟื้นหายเป็นปกติได้

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการสมองเสื่อมก่อนอาการเดินผิดปกติและกลั้นปัสสาวะไม่ได้ หรือมีอาการสมองเสื่อมที่รุนแรง หรือได้รับการรักษาล่าช้าไปจนเซลล์สมองถูกทำลายอย่างถาวร การรักษาจะไม่ได้ผลดี

การดูแลตนเอง

หากมีอาการเดินผิดปกติ (เดินช้า เดินซอยเท้า ก้าวสั้น ๆ เดินกางเท้าออก เดินเซ) ร่วมกับมีอาการหกล้มบ่อย ปัสสาวะราดบ่อย สำลักบ่อย เสียงแหบเรื้อรัง และ/หรือหลงลืมบ่อย เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์

ถ้าตรวจพบว่าเป็นภาวะน้ำเกินในโพรงสมอง ควรรับการรักษาด้วยการผ่าตัดฝังสายระบายน้ำ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 

หลังได้รับการผ่าตัด และกลับมาพักฟื้นที่บ้าน ควรปฏิบัติตัว ดังนี้

    ดูแลบาดแผลผ่าตัดตามคำแนะนำของแพทย์ ระวังอย่าให้แผลติดเชื้อ
    หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมและการเคลื่อนไหวร่างกายที่อาจกระทบต่อการทำงานของสายระบายน้ำ
    ทำกายภาพบำบัดจนกว่าจะร่างกายแข็งแรง (ตามคำแนะนำของแพทย์และนักกายภาพบำบัด)
    กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อการฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรง ได้แก่ อาหารจำพวกโปรตีน นม ไข่ ผัก ผลไม้
    นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัดทุกครั้ง

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีอาการข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    แผลผ่าตัดมีอาการปวด บวม แดง ร้อน มีหนอง หรือน้ำเหลืองไหล
    มีอาการผิดปกติ เช่น ไข้สูง ปวดศีรษะมาก ปวดท้อง อาเจียน คอแข็ง (ก้มคอไม่ได้) ตาพร่ามัว กระสับกระส่าย ง่วงซึม ชักหรือหมดสติ เป็นต้น
    อาการของภาวะน้ำเกินในโพรงสมองซึ่งทุเลาลงหลังผ่าตัดกลับมากำเริบใหม่ หรือมีอาการผิดปกติที่ทำให้สงสัยว่าสายระบายน้ำทำงานไม่เป็นปกติ และไม่สามารถปรับได้เอง (แพทย์จะสอนผู้ป่วยและญาติให้รู้จักวิธีดูแลสายระบายน้ำ ถ้าลองดูแลเองที่บ้าน เกิดปัญหาและแก้ไขไม่ได้ ก็ควรรีบกลับไปพบแพทย์)
    หากแพทย์ให้ยามากินที่บ้าน หลังกินยามีอาการที่สงสัยว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาหรือแพ้ยา

การป้องกัน

ส่วนใหญ่ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับภาวะน้ำเกินในสมองชนิดไม่ทราบสาเหตุในผู้สูงอายุ 


สำหรับภาวะน้ำเกินในโพรงสมองชนิดทุติยภูมิ อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคลงได้บ้าง โดยการควบคุมโรคบางชนิด อาทิ

    ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ด้วยการควบคุมโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ (เช่น บุหรี่ ภาวะน้ำหนักเกิน) ที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง
    ป้องกันไม่ให้เป็นโรคสมองอักเสบและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (ดูการป้องกัน โรคสมองอักเสบ และ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เพิ่มเติม)
    ป้องกันไม่ให้ศีรษะได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุต่าง ๆ เช่น การหกล้ม อุบัติเหตุจราจร

ข้อแนะนำ

1. อาการต่าง ๆ ของผู้ที่เป็นภาวะน้ำเกินในโพรงสมอง (เช่น เดินช้า เดินเซ ความจำไม่ดี ปัสสาวะราด สำลักบ่อย พูดน้อย พูดเสียงเบา) เป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุโดยทั่วไป ทำให้ญาติเข้าใจว่าเป็นโรคคนแก่ และมักจะปล่อยให้ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง โดยจ้างคนมาดูแล หรือพาไปพักอยู่ในสถานดูแลผู้สูงอายุ ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง และในที่สุดเกิดความพิการอย่างถาวร ดังนั้น หากพบผู้สูงอายุมีอาการดังกล่าว ควรพาไปพบแพทย์ เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคนี้จริง การรักษาด้วยการผ่าตัดฝังสายระบายจะช่วยให้อาการดีขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้


2. ภาวะน้ำเกินในโพรงสมองมีอาการคล้ายโรคพาร์กินสัน (คืออาการเดินช้า เดินก้าวสั้น เดินซอยเท้า เดินขากาง บางรายอาจมีอาการแขนขาเกร็ง หรือมือสั่น) และอัลไซเมอร์ (ความจำเสื่อม คิดช้า ทำอะไรช้า) ซึ่งอาจทำให้ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาแบบโรคพาร์กินสันหรืออัลไซเมอร์ เป็นเหตุให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ได้รับการรักษาล่าช้าไป

ดังนั้น หากมีอาการที่สงสัยว่าเป็นโรคพาร์กินสัน หรืออัลไซเมอร์ ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจให้แน่ใจเสียก่อนว่าเป็นภาวะน้ำเกินในโพรงสมองหรือไม่ ถ้าพบว่าเป็นภาวะน้ำเกินในโพรงสมอง จะได้รับการรักษาได้ทันการณ์ และช่วยให้หายได้


3. ผู้สูงอายุที่เป็นภาวะน้ำเกินในโพรงสมอง อาจมีโรคเรื้อรังอื่นร่วมด้วย เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เป็นต้น ควรทำการรักษาโรคเหล่านี้ควบคู่กันไป เพราะโรคเหล่านี้อาจทำให้ผู้ป่วยภาวะน้ำเกินในโพรงสมองเสียชีวิตไวกว่าเวลาอันควรได้

บางรายอาจมีอัลไซเมอร์หรือกลุ่มอาการพาร์กินโซนิซึมคล้ายพาร์กินสัน (เช่น การเคลื่อนไหวช้า แขนขาเกร็ง ทรงตัวไม่ได้ มือสั่น) ร่วมด้วย ทำให้มีความยุ่งยากซับซ้อนในการรักษา ซึ่งหลังการผ่าตัดฝังสายระบายน้ำ ก็ยังจำเป็นต้องใช้ยาควบคุมหรือบรรเทาอาการอย่างต่อเนื่อง


4. ผู้สูงอายุที่มีอาการล้มบ่อยจากการเดินผิดปกติ ปอดอักเสบบ่อยจากการสำลัก หรือมีอาการปัสสาวะบ่อยหรือปัสสาวะราด (ซึ่งคิดว่าเป็นต่อมลูกหมากโต) ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัดว่าเป็นภาวะน้ำเกินในโพรงสมองหรือไม่


5. ญาติผู้ป่วยควรเรียนรู้ให้เข้าใจถึงธรรมชาติ และแนวทางการรักษาของภาวะน้ำเกินในโพรงสมอง ซึ่งเป็นโรคที่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดฝังสายระบาย มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เข้าใจหรือมีความเชื่อผิด ๆ หรือมีความกลัวว่าจะได้รับอันตรายจากการผ่าตัด ไม่ยอมรับการรักษาด้วยการผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมากขึ้นจนเกิดความพิการอย่างถาวรและเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร