ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: นิ่วน้ำดี (Gallstone) นิ่วน้ำดี (นิ่วในถุงน้ำดี ก็เรียก) หมายถึงก้อนนิ่วที่เกิดอยู่ในถุงน้ำดี ซึ่งประกอบด้วยสาร 3 ชนิดหลัก ๆ ได้แก่ คอเลสเตอรอล บิลิรูบิน (สารสีเหลืองในน้ำดี ซึ่งเกิดจากการสลายตัวของเม็ดเลือดแดง) และแคลเซียม โดยมีองค์ประกอบแบบหลากหลายและสัดส่วนของสารประกอบต่าง ๆ กันไป ทำให้เกิดนิ่วขึ้นมากมายหลายชนิด ซึ่งสามารถจัดแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ออกเป็น 3 ชนิดหลัก ได้แก่ (1) นิ่วคอเลสเตอรอล (cholesterol stone) ประกอบด้วยคอเลสเตอรอลเป็นหลัก คือ มีส่วนประกอบของคอเลสเตอรอลมากกว่า ร้อยละ 70 ในประเทศแถบตะวันตกพบนิ่วชนิดนี้เป็นส่วนใหญ่ (2) นิ่วเม็ดสี (pigment stone) ประกอบด้วยบิลิรูบินเป็นหลัก โดยมีส่วนประกอบของคอเลสเตอรอลน้อยกว่า ร้อยละ 30 ในประเทศแถบเอเซียพบนิ่วชนิดนี้ได้ราวร้อยละ 30-80 (3) นิ่วผสม (mixed stone) ซึ่งประกอบด้วยสารต่าง ๆ แบบหลากหลาย โดยมีส่วนประกอบของคอเลสเตอรอลระหว่างร้อยละ 30-70 ซึ่งมีการศึกษานิ่วน้ำดีในประเทศไทยพบว่า มีนิ่วผสมมากถึงประมาณร้อยละ 70 และมีนิ่วคอเลสเตอรอลเพียงประมาณร้อยละ 25
ก้อนนิ่วอาจมีขนาดเล็กเท่าเม็ดทราย หรือขนาดใหญ่เท่าลูกกอล์ฟหรือไข่ไก่ อาจเกิดเป็นก้อนใหญ่ก้อนเดียว หรือก้อนเล็ก ๆ หลายก้อน (อาจถึงร้อย ๆ ก้อน) ก็ได้ นิ่วน้ำดีส่วนใหญ่พบในถุงน้ำดีเพียงอย่างเดียว ส่วนน้อยที่อาจพบในท่อน้ำดีเพียงอย่างเดียว หรือพบทั้งในถุงน้ำดีและท่อน้ำดี
นิ่วน้ำดีเป็นโรคที่พบได้บ่อย (พบได้ประมาณร้อยละ 5-10 ของประชากร) ซึ่งผู้ป่วยกว่าครึ่งหนึ่งจะไม่มีอาการแสดง และไม่รู้ตัวว่ามีนิ่วอยู่ในถุงน้ำดี จนกว่าแพทย์จะตรวจพบโดยบังเอิญ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการมักมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดท้องเป็นสำคัญ และจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด
โรคนี้ส่วนใหญ่พบในคนอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป และพบได้มากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น มักไม่พบในคนอายุต่ำกว่า 20 ปี พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 1.5-2 เท่า
มักพบในผู้สูงอายุ คนอ้วน หญิงที่ตั้งครรภ์ หญิงที่มีบุตรหลายคน หรือกินยาเม็ดคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนเอสโทรเจน ผู้ที่ชอบกินอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง ผู้ที่เป็นเบาหวาน โรคธาลัสซีเมีย ตับแข็ง หรือโรคติดเชื้อของระบบทางเดินน้ำดี ผู้ที่อดอาหารหรือลดน้ำหนักตัวอย่างรวดเร็ว หรือผู้ที่กินยาลดไขมันกลุ่มโคลไฟเบรต
ผู้ที่มีประวัติพ่อแม่หรือญาติพี่น้องเป็นโรคนิ่วน้ำดี มีความเสี่ยงของการเป็นโรคนี้ได้มากขึ้น ซึ่งมักพบเป็นนิ่วชนิดคอเลสเตอรอล
สาเหตุ
เกิดจากความไม่สมดุลของสารที่เป็นส่วนประกอบของน้ำดีในถุงน้ำดี ทำให้มีการตกตะกอนเป็นผลึก ซึ่งค่อย ๆ สั่งสมเป็นเวลานานหลายปี จนกลายเป็นก้อนนิ่วในที่สุด สันนิษฐานว่ามีสาเหตุมาจากปัจจัยที่แตกต่างกันของนิ่วแต่ละชนิด ดังนี้
นิ่วคอเลสเตอรอล ซึ่งประกอบด้วยคอเลสเตอรอลเป็นหลัก มักมีลักษณะออกเป็นสีขาว เหลือง น้ำตาล หรือเขียวเข้ม เกิดจากการมีสัดส่วนของคอเลสเตอรอลในน้ำดีที่สูง แล้วตกตะกอนเป็นผลึกนิ่ว ทั้งนี้ อาจเกิดจาก (1) มีการหลั่งคอเลสเตอรอลมาที่ถุงน้ำดีมากกว่าปกติ เช่น ในคนอ้วน หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่เป็นเบาหวาน ผู้ที่กินอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง และกินอาหารที่มีกากใยต่ำ ลดน้ำหนักตัวอย่างรวดเร็วภายในเวลาสั้น ๆ หรือกินยาโคลไฟเบรตในการลดไขมันในเลือด (2) ตับมีการหลั่งกรดน้ำดี (ซึ่งเป็นตัวทำละลายคอเลสเตอรอล) น้อยกว่าปกติ ทำให้มีคอเลสเตอรอลในน้ำดีสูง เช่น ผู้ที่กินยาเม็ดคุมกำเนิด ผู้ที่เป็นตับแข็ง หรือ (3) เกิดขึ้นพร้อมกันทั้ง 2 อย่าง เช่น ในผู้สูงอายุ ผู้ที่กินฮอร์โมนเอสโทรเจน
นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากปัจจัยเสริม เช่น ถุงน้ำดีมีการบีบตัวน้อย (hypomotility) ทำให้น้ำดีค้างอยู่ในถุงน้ำดีนานขึ้น จึงเกิดการตกตะกอนเป็นผลึกนิ่ว เช่น ผู้ที่อดอาหาร (ทำให้ถุงน้ำดีไม่ทำงานเพราะไม่มีการย่อยอาหาร) หญิงตั้งครรภ์ (เนื่องจากมีฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนที่สูงขึ้น) ผู้ป่วยเบาหวาน (เนื่องจากเบาหวานทำให้เกิดภาวะประสาทที่ควบคุมถุงน้ำดีเสื่อม) เป็นต้น
อาจพบเป็นก้อนเดี่ยว ๆ หรือหลายก้อนพร้อมกัน
นิ่วเม็ดสี ซึ่งประกอบด้วยบิลิรูบินเป็นหลัก มีลักษณะออกเป็นสีดำหรือน้ำตาล เกิดจากมีบิลิรูบิน (ชนิด unconjugated bilirubin) ในน้ำดีสูงเกินไป ทำให้จับตัวกับแคลเซียม ตกตะกอนเป็นผลึกนิ่ว ซึ่งแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
(1) นิ่วเม็ดสีดำ (black pigment stone) มักพบในผู้ที่มีภาวะเม็ดเลือดแดงแตกเรื้อรัง (เช่น ธาลัสซีเมีย) หรือผู้ป่วยตับแข็ง (ที่มีความดันในหลอดเลือดดำของตับสูง และม้ามโต เม็ดเลือดแดงจะถูกม้ามจับทำลายมากกว่าปกติ) หรือร่วมกันทั้งสองอย่าง มักพบเป็นก้อนเล็ก ๆ มีหลายก้อน
(2) นิ่วเม็ดสีน้ำตาล (brown pigment stone) มักพบในผู้ที่มีการติดเชื้อของทางเดินน้ำดีเรื้อรัง หรือเป็นโรคพยาธิในทางเดินน้ำดี นิ่วชนิดนี้เกิดได้ทั้งในถุงน้ำดีและทางเดินน้ำดี อาจพบเป็นก้อนเดี่ยว ๆ หรือหลายก้อนพร้อมกัน
อาการ
ส่วนใหญ่ของผู้ที่มีนิ่วน้ำดีจะไม่มีอาการผิดปกติแสดงให้เห็นแต่อย่างใด และมักตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจร่างกายด้วยโรคอื่น
ในรายที่ก้อนนิ่วเคลื่อนไปอุดในท่อน้ำดี (bile duct) จะมีอาการปวดบิดรุนแรงเป็นพัก ๆ ตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา ซึ่งอาจปวดร้าวมาที่ไหล่ขวา หรือบริเวณหลังตรงใต้สะบักขวา และมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย บางรายอาจปวดรุนแรงจนเหงื่อออก เป็นลม
อาการปวดท้องมักเป็นหลังกินอาหารมัน ๆ หรือกินอาหารมื้อหนัก แต่อาจเกิดตอนกลางคืนหรือเวลาอื่นใดก็ได้ แต่ละครั้งจะปวดนาน 15-30 นาที บางรายอาจนาน 2-6 ชั่วโมง และจะทุเลาไปเอง เมื่อเว้นไปนานเป็นแรมสัปดาห์ แรมเดือน หรือแรมปีก็อาจกำเริบได้อีก (ถ้าปวดท้องทุกวันมักจะไม่ใช่เป็นนิ่วน้ำดี)
บางรายอาจมีอาการดีซ่าน (ตาเหลือง ตัวเหลือง) เกิดขึ้นตามหลังอาการปวดท้อง
บางรายอาจมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อบริเวณเหนือสะดือ เรอ คลื่นไส้ อาเจียน คล้ายอาการของอาหารไม่ย่อยหรือโรคกระเพาะ ซึ่งมักจะเป็นหลังกินอาหารมัน ๆ เป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง
ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย คือ นิ่วหลุดออกจากถุงน้ำดีลงมาอุดตันบริเวณปากถุงน้ำดี ทำให้เกิดถุงน้ำดีอักเสบ จากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ซึ่งอาจรุนแรงและเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เป็นต้น
นอกจากนี้ นิ่วอาจหลุดลงมาอุดตันบริเวณท่อน้ำดีร่วม (common bile duct) ทำให้น้ำดีไหลออกไม่ได้ เกิดท่อน้ำดีอักเสบ จากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
หรือนิ่วอาจหลุดลงมาอุดตันบริเวณปลายท่อน้ำดีร่วม ทำให้ท่อตับอ่อน (ที่มาเชื่อมต่อกับส่วนปลายของท่อน้ำดีร่วม) อุดตัน น้ำย่อยในตับอ่อนออกไม่ได้ และไหลย้อนกลับไปที่เนื้อตับอ่อน ทำให้ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันรุนแรง
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้แต่ค่อนข้างน้อยมาก (พบได้น้อยกว่า 1 รายในผู้ที่เป็นนิ่วน้ำดี 10,000 คน) คือ การกลายเป็นมะเร็งถุงน้ำดี (gallbladder cancer)*
*มะเร็งถุงน้ำดี เป็นมะเร็งที่พบได้ค่อนข้างน้อย มักพบในคนอายุมากกว่า 65 ปี พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะพบว่ามีก้อนนิ่วน้ำดีขนาดใหญ่กว่า 3 ซม. หรือเป็นถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรังและผนังของถุงน้ำดีมีแคลเซียม (หินปูน) พอก นอกจากนี้ ยังอาจมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น โรคติ่งเนื้อในถุงน้ำดี (gall bladder polyp) เบาหวาน ภาวะอ้วน การสูบบุหรี่ การดื่มสุราจัด การมีประวัติพ่อแม่หรือญาติพี่น้องเป็นมะเร็งถุงน้ำดี เป็นต้น ผู้ป่วยมักมีอาการเมื่อเป็นมากแล้ว โดยจะมีอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ คลื่นไส้ อาเจียน ดีซ่าน บางรายอาจมีไข้สูง คลำได้ก้อนที่ใต้ชายโครงขวา หรือเบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดมาก
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากซักถามประวัติการเจ็บป่วยและอาการแสดง การตรวจร่างกายมักไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน ยกเว้นบางรายอาจมีอาการตาเหลือง หรืออาจตรวจพบอาการกดเจ็บเล็กน้อยบริเวณใต้ลิ้นปี่และใต้ชายโครงขวา
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้อง (abdominal ultrasound) เป็นหลัก
ในรายที่ยังวินิจฉัยไม่ได้แน่ชัด หรือสงสัยเป็นนิ่วก้อนเล็กหรือนิ่วที่ติดอยู่ในท่อน้ำดี หรือสงสัยมีภาวะแทรกซ้อน อาจทำการตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น การตรวจระบบทางเดินอาหารโดยการส่องกล้องที่ติดอัลตราซาวนด์ (endoscopic ultrasound) การถ่ายภาพรังสีตรวจถุงน้ำดีโดยการกินสารทึบรังสี (oral cholecystography) เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การส่องกล้องตรวจทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (endoscopic retrograde cholangiopancreatography/ERCP ซึ่งระหว่างการตรวจ หากพบก้อนนิ่ว ก็สามารถให้การรักษาโดยนำก้อนนิ่วออกมา) เป็นต้น
นอกจากนี้ แพทย์อาจทำการตรวจเลือด ในรายที่สงสัยมีการติดเชื้อหรือการอักเสบของถุงน้ำดี ท่อน้ำดี ตับอ่อน หรือสงสัยมีโรคอื่น (เช่น ตับแข็ง เบาหวาน ธาลัสซีเมีย) ร่วมด้วย
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษาดังนี้
1. ผู้ป่วยที่เป็นนิ่วน้ำดีที่ยังไม่มีอาการแสดงอะไรแต่ตรวจพบโดยบังเอิญ ขณะที่ไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาโรคอื่น (เช่น โรคของกระเพาะอาหาร โรคตับ อาการปวดท้องที่ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน) ซึ่งมักพบจากการตรวจอัลตราซาวนด์หรือเอกซเรย์ช่องท้อง แพทย์ก็จะให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัว โดยไม่มีการให้ยาหรือการผ่าตัดรักษาแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง หรืออายุน้อย เนื่องเพราะมักไม่ก่อเกิดภาวะแทรกซ้อน แพทย์จะนัดติดตามดูเป็นระยะ จนกว่าจะมีอาการแสดง (เช่น ปวดท้อง) จึงค่อยทำการรักษาด้วยการผ่าตัด ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสเกิดอาการปวดท้องจากนิ่วน้ำดีที่ซ่อนอยู่ประมาณร้อยละ 10-20 ในระยะ 5-20 ปีหลังการวินิจฉัย ซึ่งมีโอกาสเกิดอาการปวดท้องโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 1-2 ต่อปี
แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดผู้ป่วยที่ไม่มีอาการแสดง ในรายที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น นิ่วน้ำดีที่ตรวจพบว่ามีแคลเซียมพอกที่ผนังของถุงน้ำดี หรือมีก้อนนิ่วขนาดใหญ่กว่า 3 ซม. ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งถุงน้ำดี, นิ่วขนาดเล็กที่อาจหลุดลงมาอุดที่ท่อน้ำดีร่วม ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดท่อน้ำดีอักเสบ หรือตับอ่อนอักเสบ นิ่วน้ำดีที่พบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือเป็นโรคเรื้อรัง (เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง ตับแข็ง เป็นต้น) เนื่องเพราะหากรอให้มีอาการแสดงและเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นแล้ว ซึ่งจำเป็นต้องทำการผ่าตัดแบบฉุกเฉิน จะมีโอกาสเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตมากกว่าการผ่าตัดในขณะที่ร่างกายยังแข็งแรงดี และมีการเตรียมความพร้อมก่อนผ่าตัด
ในกรณีที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดช่องท้องด้วยสาเหตุอื่น แพทย์อาจถือโอกาสทำการผ่าตัดรักษานิ่วน้ำดีที่ไม่แสดงอาการที่มีอยู่เดิมนั้นพร้อม ๆ กันไป หากเห็นว่าเหมาะสม
2. ในรายที่มีอาการปวดท้อง มีแนวทางดังนี้
(1) แพทย์จะรักษาโดยการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกแบบไม่เร่งด่วน คือ นัดหมายมาทำผ่าตัดในเวลาที่เหมาะสม (ซึ่งขึ้นกับความรุนแรงของโรคและการเตรียมความพร้อมสำหรับการผ่าตัด) ระหว่างรอนัดมาผ่าตัด แพทย์อาจให้ยาบรรเทาอาการปวดท้อง และแนะนำว่าถ้าปวดท้องรุนแรงขึ้นหรือบ่อยขึ้น ก็ให้กลับมาพบแพทย์ก่อนวันนัดผ่าตัด
(2) ถ้ามีภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ถุงน้ำดีอักเสบ ท่อน้ำดีอักเสบ หรือตับอ่อนอักเสบ ซึ่งมักมีอาการปวดท้องรุนแรง ไข้สูง และอาจมีดีซ่านร่วมด้วย ก็จะรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล โดยให้ยารักษาภาวะแทรกซ้อน (เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวด ยาแก้ไข้ ให้น้ำเกลือ) ให้ทุเลาก่อน แล้วจะทำการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกในเวลาที่เหมาะสม ยกเว้นในรายที่มีภาวะที่รุนแรง (เช่น ภาวะมีหนองในถุงน้ำดี ถุงน้ำดีมีเนื้อตายเน่า เชื้อเข้ากระแสโลหิต หรือโลหิตเป็นพิษ) หรือการรักษาด้วยยาไม่ได้ผลเท่าที่ควร แพทย์ก็จะทำการผ่าตัดแบบเร่งด่วนเลย
การผ่าตัด ในปัจจุบันนิยมผ่าตัดถุงน้ำดีแบบส่องกล้อง (laparoscopic cholecystectomy) โดยการส่องกล้องเข้าช่องท้อง ผ่านแผลที่เจาะเป็นรูเล็ก ๆ ที่หน้าท้อง 3-4 จุด (เพื่อสอดอุปกรณ์และกล้อง) ซึ่งจะเจ็บแผลเพียงเล็กน้อยและหายได้เร็ว ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านภายใน 1-2 วัน และพักงานประมาณ 7-10 วันก็กลับไปทำงานได้ตามปกติ
ในกรณีที่มีนิ่วในท่อน้ำดีร่วมด้วย แพทย์จะทำการรักษาด้วยการส่องกล้องตรวจทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (ERCP) แล้วนำเอานิ่วออกมา ซึ่งแพทย์อาจทำก่อนหรือระหว่างการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีก็ได้ โดยพิจารณาตามสภาพปัญหาที่พบ
ส่วนการผ่าตัดถุงน้ำดีแบบเปิดหน้าท้อง (open cholecystectomy) ซึ่งเป็นวิธีผ่าตัดแบบเดิม แพทย์จะเลือกใช้ในกรณีที่ถุงน้ำดีที่มีอาการอักเสบรุนแรงหรือแตกทะลุในช่องท้อง หรือในรายที่ไม่เหมาะที่ใช้วิธีผ่าตัดแบบส่องกล้อง (เช่น ผู้ป่วยที่มีเยื่อบุช่องท้องอักเสบ เป็นมะเร็งถุงน้ำดี ตับแข็งระยะรุนแรง มีภาวะโลหิตเป็นพิษ หรือการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ, มีประวัติเคยผ่าตัดช่องท้องมาก่อน, หญิงตั้งครรภ์ระยะไตรมาสท้าย, ผู้ที่มีภาวะอ้วนจัด เป็นต้น)
หลังการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ ผู้ป่วยต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนานประมาณ 3-5 วัน หรือนานเป็นสัปดาห์ และไม่ควรทำงานหนักหรือยกของหนักอย่างน้อย 4-6 สัปดาห์
ผลการรักษา ส่วนใหญ่ได้ผลดี ร่างกายฟื้นตัวหายเป็นปกติ
ส่วนน้อยอาจมีความยุ่งยากในการรักษา หรือเสี่ยงอันตรายต่อชีวิต ซึ่งมักจะพบในผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง (เช่น ภาวะมีหนองในถุงน้ำดี ถุงน้ำดีมีเนื้อตายเน่า เชื้อเข้ากระแสโลหิตหรือโลหิตเป็นพิษ), มีภาวะดื้อต่อยาที่รักษา, หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง ตับแข็ง เป็นต้น)
การดูแลตนเอง
หากสงสัยเป็นนิ่วน้ำดี เช่น ปวดท้องแบบปวดบิดเกร็งเป็นพัก ๆ ที่บริเวณใต้ลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวาหลังกินอาหารเป็นบางมื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังกินอาหารมัน หรือมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อยเรื้อรัง หรือกินยารักษาโรคกระเพาะไม่ได้ผล ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
เมื่อตรวจพบว่าเป็นนิ่วน้ำดี ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามการรักษากับแพทย์ตามนัด
ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการแสดง หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยและไม่บ่อย ซึ่งแพทย์นัดติดตามดูอาการเป็นระยะนั้น ควรปฏิบัติ ดังนี้
- ทำงาน และออกกำลังกายได้เป็นปกติ แต่ไม่ให้หักโหมมากเกินไป
- กินอาหารให้ตรงเวลา ไม่ควรอดอาหาร
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีไขมันชนิดอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลสูง เช่น ไขมันสัตว์ เครื่องในสัตว์ หนังสัตว์ น้ำมันหมู มันหมู หมูสามชั้น หมูกรอบ ขาหมู ข้าวมันไก่ เนื้อวัวติดมัน หมูยอ กุนเชียง ไส้กรอก เนย ครีม กะทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม ไข่แดง อาหารทะเล (เช่น หอยแครง หอยนางรม ปลาหมึก) อาหารทอด (เช่น แคบหมู ไก่ทอด กล้วยแขก ปาท่องโก๋ มันฝรั่งทอด ข้าวเกรียบทอด) เป็นต้น
- กินผัก ผลไม้ ถั่ว ธัญพืชให้มาก ๆ
- งดสูบบุหรี่และดื่มสุรา
- ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีอาการปวดท้องรุนแรงหรือปวดท้องบ่อย มีไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน ดีซ่าน (ตาเหลือง ตัวเหลือง) เบื่ออาหาร หรือน้ำหนักลด (โดยไม่ตั้งใจ) หรือมีความวิตกกังวล
ผู้ปวยที่กลับจากโรงพยาบาลหลังผ่าตัด
- ควรพักฟื้น และหลีกเลี่ยงการทำงานหนักหรือยกของหนักจนกว่าจะฟื้นตัวเป็นปกติ หรือตามที่แพทย์แนะนำ
- ดูแลรักษาแผลผ่าตัดตามที่แพทย์แนะนำ
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารโปรตีนให้มาก เช่น นมพร่องมันเนย ไข่ขาว เนื้อปลา เต้าหู้ ถั่วเหลือง เป็นต้น
- กินอาหารที่ย่อยง่าย วันละ 5-6 มื้อ แต่ละมื้อลดปริมาณลงเหลือครึ่งหนึ่งของปกติ (จากที่เคยกิน วันละ 3 มื้อ)
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง และอาหารที่ทำให้ท้องอืดแน่น หรือท้องเดิน
- กินผักผลไม้ ถั่ว ธัญพืชให้มาก ๆ
- ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้าแผลอักเสบ, หรือมีอาการปวดท้องรุนแรง มีไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดินมาก ดีซ่าน (ตาเหลือง ตัวเหลือง) เบื่ออาหาร หรือน้ำหนักลด (โดยไม่ตั้งใจ), หรือถ้ากินยาที่แพทย์สั่งให้แล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ)
การป้องกัน
การปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรค
1. รักษาน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินหรือเป็นโรคอ้วน
2. ถ้าต้องการลดน้ำหนักตัว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อแนะนำวิธีลดน้ำหนักที่ถูกต้อง ไม่ลดเร็วเกินไป เนื่องเพราะการลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วน้ำดี
3. กินอาหารให้ตรงเวลา ไม่ข้ามมื้ออาหาร หรืออดอาหาร
4. ลดอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง
5. กินอาหารที่มีกากใยมาก เช่น ผัก ผลไม้ ถั่ว ธัญพืช
6. ออกกำลังกายเป็นประจำ
ข้อแนะนำ
1. การวินิจฉัยโรคนิ่วน้ำดีให้แน่ชัด ไม่สามารถอาศัยเพียงอาการแสดงและการตรวจร่างกาย แต่จำเป็นต้องทำการตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษ ปัจจุบันแพทย์จะทำการวินิจฉัยด้วยการตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้องเป็นหลัก ซึ่งเป็นวิธีที่ดีกว่าการเอกซเรย์ช่องท้องแบบธรรมดา (plain abdomen) เหตุผลก็คือ การเอกซเรย์อาจตรวจไม่พบก้อนนิ่วประมาณร้อยละ 50 ของผู้ป่วยที่เป็นนิ่วน้ำดี เนื่องเพราะเป็นนิ่วที่มีส่วนประกอบของคอเลสเตอรอลหรือบิลิรูบินเป็นหลัก แต่มีส่วนประกอบของแคลเซียม (หินปูน) น้อย (เช่น นิ่วคอเลสเตอรอล นิ่วเม็ดสีน้ำตาล) ซึ่งมีคุณสมบัติโปร่งรังสี (รังสีผ่านได้) ทำให้ไม่เห็นภาพของนิ่วบนฟิล์มเอกซเรย์
2. การรักษานิ่วน้ำดี แพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกไปด้วย เนื่องเพราะหากเอาแต่นิ่วออกและคงถุงน้ำดีไว้ มีโอกาสกลับเป็นนิ่วขึ้นใหม่ได้อีก
การไม่มีถุงน้ำดี ไม่มีผลเสียต่อร่างกาย ถุงน้ำดีทำหน้าที่เป็นตัวเก็บพักน้ำดีจากที่ตับสร้าง แล้วปล่อยน้ำดีลงมาตามท่อน้ำดีร่วมเข้าสู่ลำไส้เล็กเพื่อการย่อยไขมัน แม้จะไม่มีถุงน้ำดี ตับยังคงสร้างน้ำดีได้ตามปกติและไหลลงมาตามท่อน้ำดีโดยตรง แต่จะมีความเข้มข้นน้อยกว่าน้ำดีที่เก็บพักในถุงน้ำดี หลังผ่าตัดใหม่ ๆ ผู้ป่วยบางคนอาจมีปัญหาการย่อยไขมันได้ ทำให้มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเดิน หรือถ่ายเหลวบ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกินอาหารที่มีไขมันสูง ซึ่งร่างกายจะค่อย ๆ ปรับตัว ทำให้อาการทุเลาไปได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์ ระหว่างที่มีอาการ แนะนำให้ผู้ป่วยงดกินอาหารที่มีไขมันสูงและอาหารที่ทำให้ท้องอืดแน่น หรือท้องเดิน ควรกินผัก ผลไม้ และธัญพืชให้มาก ๆ
3. ผู้ที่เป็นนิ่วน้ำดี บางครั้งอาจมีอาการที่ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นโรคกระเพาะ เนื่องเพราะจะมีลักษณะปวดเป็นครั้งคราวที่บริเวณใต้ลิ้นปี่คล้าย ๆ กัน ดังนั้น หากคิดว่าเป็นโรคกระเพาะ กินยารักษาโรคกระเพาะแล้วไม่ทุเลา หรือเป็นเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด
4. ผู้ป่วยที่มีอาการแบบนิ่วน้ำดี บางรายแพทย์อาจตรวจพบว่าเป็นเพียงของเหลวข้น เหนียวหนืด คล้ายโคลน ที่อยู่ในถุงน้ำดี เรียกว่า "ตะกอนในถุงน้ำดี (gallbladder sludge/biliary sludge)" ซึ่งมีส่วนประกอบคล้ายนิ่วน้ำดี เป็นภาวะที่พบได้น้อย เกิดจากถุงน้ำดีมีการบีบตัวน้อย ทำให้น้ำดีค้างอยู่ในถุงน้ำดีนานจนตกตะกอน มักพบในหญิงขณะตั้งครรภ์ ผู้ที่ลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ป่วยที่แพทย์ให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำ (parenteral nutrition) หรืออาจเกิดเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยา (เช่น ceftriaxone) ภาวะนี้อาจหายได้เอง หรือเป็น ๆ หาย ๆ หรือกลายเป็นนิ่วน้ำดีก็ได้
ตะกอนน้ำดีอาจไม่มีอาการ (ตรวจพบโดยบังเอิญ) ถ้ามีอาการปวดท้อง หรือมีภาวะแทรกซ้อน ซึ่งมักพบเป็นแบบเดียวกับนิ่วน้ำดี จำเป็นต้องทำการตรวจวินิจฉัยแบบเดียวกับนิ่วน้ำดี และรักษาด้วยการผ่าตัดถุงน้ำดี
5. ในปัจจุบันไม่แนะนำให้รักษาด้วยการใช้ยาละลายนิ่วน้ำดี เพราะได้ผลน้อย ยกเว้นในรายที่มีความเสี่ยงสูงต่อการผ่าตัด แพทย์อาจให้กินยาละลายนิ่วน้ำดี* ซึ่งได้ผลดีกับผู้ป่วยที่เป็นนิ่วคอเลสเตอรอล และมีลักษณะก้อนนิ่วเล็ก ๆ หลายก้อน โดยอาจต้องกินยานานเป็นปี ๆ แต่หลังหยุดยาอาจเกิดนิ่วขึ้นใหม่ได้ประมาณร้อยละ 10 ต่อปี
*ยาละลายนิ่วน้ำดี คือ ursodeoxycholic acid หรือ chenodeoxycholic acid ซึ่งมีฤทธิ์ลดการสร้างคอเลสเตอรอลที่ตับที่ไหลลงมาในถุงน้ำดี ทำให้คอเลสเตอรอลในถุงน้ำดีลดปริมาณลง ช่วยให้นิ่วก้อนเล็ก ๆ ค่อย ๆ ละลายไปได้