ผู้เขียน หัวข้อ: หมอออนไลน์: โรคบิด  (อ่าน 30 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 598
  • ผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรม โพสฟรี
    • ดูรายละเอียด
หมอออนไลน์: โรคบิด
« เมื่อ: วันที่ 24 ตุลาคม 2024, 19:08:44 น. »
หมอออนไลน์: โรคบิด


โรคบิด (Dysentery) คืออาการท้องเสียอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นจากเชื้อแบคทีเรียชิเกลลา (Shigella) หรือเกิดจากติดเชื้อจากสัตว์เซลล์เดียวอย่างตัวอะมีบา (E. histolytica) โดยอาการหลัก ๆ ของโรคบิดที่พบได้แก่ อาการท้องเสีย ถ่ายอุจจาระบ่อย เมื่อถ่ายอุจจาระจะมีมูกหรือมูกเลือดออกมาด้วย และปวดท้องเป็นพักๆ

โรคบิดแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

    โรคบิดชนิดไม่มีตัว (Bacillary Dysentery หรือ Shigellosis) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มชิเกลลา (Shigella) สามารถพบได้ทั่วไปในพื้นที่ที่มีสุขอนามัยไม่ดี
    โรคบิดชนิดมีตัว (Amoebic Dysentery หรือ Amoebiasis) เป็นโรคบิดที่เกิดจากสัตว์เซลล์เดียวอันมีชื่อว่า อะมีบา ที่มักพบการติดเชื้อได้ในพื้นที่ร้อนชื้นและที่ที่มีการดูแลสุขอนามัยที่ไม่ดีมากนัก

ปัจจุบันในประเทศไทยยังพบว่ามีรายงานผู้ป่วยโรคบิดในหลาย ๆ ท้องที่เนื่องจากยังมีบางพื้นที่ที่มีการสุขาภิบาลด้านอาหารและน้ำดื่มที่ไม่ดีพอ ทั้งนี้โรคบิดเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ หากรักษาได้อย่างทันท่วงทีและได้รับการชดเชยภาวะขาดน้ำควบคู่กับการให้ยาฆ่าเชื้ออย่างเหมาะสม แต่ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วก็อาจจะทำให้อาการรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้


อาการของโรคบิด

อาการของโรคบิดสามารถแสดงให้เห็นได้ชัดเจนผ่านอาการท้องเสียอย่างรุนแรง แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยติดเชื้อโรคบิดชนิดไม่มีตัวก็อาจไม่มีอาการแสดงให้เห็น แต่จะสามารถตรวจพบเชื้อได้ในอุจจาระ และสามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นผ่านอุจจาระได้เช่นกัน

ทั้งนี้อาการของโรคบิดทั้ง 2 ชนิดจะค่อนข้างคล้ายกัน คือ หลังจากรับเชื้อแล้ว จะต้องใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ในการฟักตัว โดยในช่วงนี้จะไม่มีอาการใด ๆ แสดงให้เห็น แต่ภายหลังจะเริ่มมีอาการท้องเสีย โดยสามารถสังเกตได้ว่าท้องเสียหรือไม่ ด้วยการการนับจำนวนครั้งที่ถ่าย หากเริ่มถ่ายติดต่อกันมากกว่า 3 ครั้งก็เข้าข่ายว่าท้องเสีย แต่อาการท้องเสียจากโรคบิดจะรุนแรงกว่าเพราะจะมีอาการอุจจาระเป็นน้ำ มีมูกหรือมูกเลือดปนออกมากับอุจจาระ ร่วมกับอาการปวดเกร็ง ปวดบีบที่ท้องเป็นพัก ๆ ปวดหน่วงที่ทวารหนัก คลื่นไส้ อาเจียน และมีไข้ขึ้นสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ซึ่งหากเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียในโรคบิดชนิดไม่มีตัว ก็อาจหายได้โดยไม่ต้องทำการรักษาใด ๆ แต่ส่วนใหญ่ต้องรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อ

ทว่าหากเป็นโรคบิดชนิดมีตัว นอกจากอาการข้างต้นแล้ว ตัวอะมีบาก็อาจเข้าไปสู่กระแสเลือด และแพร่ไปยังอวัยวะภายในต่าง ๆ เช่น ตับ หัวใจ สมอง หรืออวัยวะอื่น ๆ ซึ่งตัวอะมีบาจะเข้าไปทำให้เนื้อเยื่อในอวัยวะถูกทำลาย หรือก่อให้เกิดฝีที่อวัยวะต่าง ๆ และนำไปสู่อาการติดเชื้อ หรืออาการอื่น ๆ ที่รุนแรงขึ้น หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที จะทำให้เสียชีวิตได้

สาเหตุของโรคบิด

โรคบิดแต่ละชนิด เกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกันไป แต่ความรุนแรงจะแตกต่างกัน โดยเฉพาะโรคบิดชนิดมีตัวจะรุนแรงที่สุด เนื่องจากตัวอะมีบาอาจเข้าไปทำลายอวัยวะภายในได้

โรคบิดชนิดไม่มีตัว มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มชิเกลลา (Shigella) นอกจากนี้เชื้อชนิดอื่น ๆ ก็อาจก่อให้เกิดโรคบิดได้ เช่น เชื้อแคมพีโลแบคเตอร์ (Campylobacter) เชื้อเอสเชอริเชีย โคไล หรือเชื้อ อี โคไล (Escherichia Coli: E. coli) และเชื้อซาโมเนลลา (Salmonella) เป็นต้น

โรคบิดชนิดมีตัว มีสาเหตุเกิดจากอะมีบา โดยเชื้อดังกล่าวจะมีวงจรชีวิต 2 ระยะ ดังนี้

    ระยะถุงหุ้ม (Cysts) เป็นระยะที่อะมีบาไม่สามารถแพร่กระจายได้ แต่สามารถอาศัยอยู่ในดิน ในปุ๋ย หรือในน้ำได้หลายเดือน
    ระยะโทรโพไซท์ (Trophozite) เป็นระยะที่อะมีบาออกมาจากถุงหุ้มและแพร่กระจายได้ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในระบบย่อยอาหาร โดยเฉพาะในลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ ซึ่งตัวอะมีบาจะฝังตัวอยู่ที่ผนังลำไส้ จนทำให้ผู้ป่วยมีอาการอุจจาระเป็นเลือด ลำไส้อักเสบ และเนื้อเยื่อภายในลำไส้ถูกทำลาย จากนั้นอะมีบาจะสร้างถุงหุ้มขึ้นมาและออกจากร่างกายไปพร้อมอุจจาระ กลับคืนสู่ธรรมชาติอีกครั้ง ทั้งนี้หากอะมีบาในระยะนี้แพร่กระจายไปยังกระแสโลหิตก็จะทำให้เชื้อไปถึงอวัยวะอื่นในร่างกายได้ และก่อให้เกิดการติดเชื้อที่อวัยวะนั้น ๆ หรือเกิดฝี และเกิดอาการป่วยที่รุนแรง รวมทั้งอาจนำมาสู่การเสียชีวิตได้

โรคบิดสามารถติดต่อกันได้ผ่านเชื้อโรคที่อยู่ในอุจจาระของผู้ป่วย โดยเมื่อเชื้อของโรคบิดปนเปื้อนไปสู่แหล่งน้ำ ลงไปในอาหาร หรือตกค้างอยู่ที่มือของผู้ป่วย ก็อาจทำให้เชื้อแพร่กระจายได้ ไม่เพียงเท่านั้นแมลงวันยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เชื้อแพร่กระจายได้อีกด้วย ขณะที่ผู้ป่วยที่มีเชื้อของโรคบิดสามารถเป็นพาหะและแพร่เชื้อได้ตลอดเวลาที่มีอาการ เพราะจะมีเชื้อออกมากับอุจจาระทุกครั้งที่ถ่าย และเชื้อจะค่อย ๆ หมดไปหลังจาก 2-3 สัปดาห์

ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรียหรือได้รับเชื้ออะมีบาเข้าสู่ร่างกาย อาจเกิดขึ้นกับกลุ่มคนเหล่านี้ ได้แก่

    ผู้ที่อาศัยหรือเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีสุขอนามัยที่ไม่ดี
    ผู้ที่อพยพมาจากพื้นที่ที่มีสุขอนามัยที่ไม่ดี
    ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการจัดการสุขอนามัยไม่ดี อาทิ เรือนจำ
    ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
    ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน หรือมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอ

การวินิฉัยอาการบิด

ในเบื้องต้นผู้ป่วยอาจสันนิษฐานได้คร่าว ๆ ว่าเป็นโรคบิดหรือไม่ จากอาการท้องเสีย หากอุจจาระที่ออกมามีมูกเลือดปนในหลังจากรับประทานอาหาร หรือน้ำดื่มที่ไม่สะอาด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ทั้งนี้เมื่อถึงมือแพทย์แล้ว แพทย์จะทำการซักประวัติเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร หรือการดื่มน้ำ และการเดินทางไปยังพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการระบาดของเชื้อแบคทีเรียหรือตัวอะมีบา จากนั้นแพทย์จะสั่งเก็บตัวอย่างอุจจาระ แล้วส่งตรวจยังห้องปฏิบัติการ โดยจะต้องทำการเก็บเพื่อนำมาตรวจหาเชื้อติดต่อกัน 3 วัน เพื่อผลที่แม่นยำ และหากพบว่ามีการติดเชื้อ แพทย์ก็จะเริ่มวางแผนในการรักษาทันที เนื่องจากหากปล่อยไว้นาน อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

หากเป็นการติดเชื้อโรคบิดจากเชื้ออะมีบา แพทย์อาจมีความจำเป็นที่จะต้องตรวจการทำงานของตับ และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อดูสภาพของตับ เนื่องจากตัวอะมีบาอาจเข้าไปทำลายตับ จนทำให้เกิดบาดแผล หรือเป็นฝีในตับ ซึ่งถือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย

ในขณะเดียวกัน แพทย์อาจใช้วิธีส่องกล้องเพื่อดูการติดเชื้อที่บริเวณลำไส้และเนื้อเยื่อในลำไส้เพื่อประเมินความรุนแรง และวางแผนการรักษา รวมถึงป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น


การรักษาโรคบิด

โรคบิดสามารถรักษาให้หายได้ และหากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็จะช่วยให้ความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนลดลง ซึ่งการรักษาจะคำนึงถึงชนิดของโรคบิดและความรุนแรงของอาการ ดังนี้

โรคบิดชนิดไม่มีตัว โดยปกติแล้วโรคบิดชนิดนี้จะมีอาการประมาณ 5-7 วัน หากอาการไม่รุนแรง และผู้ป่วยมีสุขภาพที่ดีอยู่แล้ว การรักษาจะเน้นไปที่การรักษาภาวะสูญเสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกายจากการท้องเสียเท่านั้น โดยผู้ป่วยควรเลี่ยงการใช้ยารักษาอาการท้องเสียโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้อาการยิ่งแย่ลง

ในการรักษาภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ การดื่มน้ำให้เพียงพอก็สามารถช่วยลดผลกระทบจากอาการท้องเสียได้ แต่ถ้าหากเป็นเด็ก การใช้ผงน้ำตาลเกลือแร่จะช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูได้เร็วกว่า แต่ถ้าหากอาการรุนแรงจนต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล แพทย์จะสั่งให้น้ำเกลือผ่านทางหลอดเลือดดำแทน เพราะจะช่วยให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูจากความรุนแรงของโรคบิดได้

ในกรณีที่อาการของโรคบิดไม่รุนแรง ไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ เนื่องจากอาจทำให้เชื้อดื้อยาได้ แต่ถ้าหากมีอาการรุนแรง ผู้ป่วยจะต้องได้รับยาปฏิชีวนะ เพราะยาดังกล่าวจะช่วยลดระยะเวลาของอาการได้ นอกจากนี้ ในผู้ป่วยที่เป็นเด็กทารก ผู้สูงอายุ ผู้ที่ติดเชื้อ HIV หรือผู้ป่วยที่อยู่สถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่กระจายของเชื้ออาจต้องได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายหรือส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต

โรคบิดชนิดมีตัว ในการรักษาโรคบิดชนิดนี้จะเน้นที่การใช้ยาเป็นหลัก เนื่องจากอะบีมาไม่สามารถออกไปจากร่างกายของเราได้หมด และสามารถแพร่กระจายไปยังผู้อื่นได้แม้จะไม่มีอาการของโรคบิดก็ตาม ซึ่งหากมีการตรวจพบอะมีบาในอุจจาระ แพทย์จะแนะนำให้ใช้ยาไดโลซาไนต์ ฟูโรเอต ในการกำจัดปรสิตอย่างอะมีบาออกจากร่างกาย ส่วนอาการอื่น ๆ ของโรคบิดชนิดนี้จะเป็นการรักษาตามอาการ จนกว่าอาการจะดีขึ้นและสามารถกำจัดตัวอะมีบาออกจากร่างกายได้หมดแล้ว ทว่าหากผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อน ก็จะต้องใช้วิธีการรักษาดังต่อไปนี้

    ลำไส้อักเสบจากอะมีบา (Amoebic Colitis) หากผู้ป่วยมีอาการลำไส้อักเสบที่มีสาเหตุมาจากตัวอะมีบาร่วมกับอาการของโรคบิด แพทย์จะสั่งใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการ โดยยาที่นิยมใช้ ได้แก่ ยาเมโทรนิดาโซล ยาทินิดาโซล และอาจมีการใช้ยาไดโลซาไนต์ ฟูโรเอต เพื่อกำจัดอะมีบาที่อยู่ภายในกระเพาะอาหาร ทั้งนี้หากการรักษาเสร็จสิ้นแล้ว ผู้ป่วยยังคงต้องได้รับการตรวจเพื่อติดตามผล จนกว่าแพทย์จะมั่นใจว่าไม่มีอะมีบาหลงเหลือภายในร่างกายอีกต่อไป
    ฝีในตับจากอะมีบา (Amoebic Liver Abscess) ถือเป็นอาการที่ค่อนข้างอันตราย และต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาฝี โดยยาที่ใช้จะเหมือนกับการรักษาภาวะลำไส้อักเสบจากอะมีบา เพราะสามารถรักษาฝีให้หายได้

นอกจากนี้การรักษาภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ซึ่งหากผู้ป่วยมีอาการของลำไส้อักเสบ ก็จะมีความเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำมากขึ้น จึงควรดื่มน้ำมาก ๆ หรือใช้ผงน้ำตาลเกลือแร่ควบคู่ด้วย โดยการให้รับประทานผงน้ำตาลเกลือแร่เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะขาดน้ำ ดังนี้

    ภาวะขาดน้ำไม่รุนแรง ให้เบื้องต้น 50 มิลลิลิตร ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ติดต่อกัน 4 ชั่วโมง จากนั้นให้ 100 มิลลิลิตร ต่อเนื่องกัน 24 ชั่วโมง
    ภาวะขาดน้ำปานกลาง ให้เบื้องต้น 100 มิลลิลิตร ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ติดต่อกัน 4 ชั่วโมง จากนั้นให้ 100 มิลลิลิตร ต่อเนื่องกัน 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ต้องให้ควบคู่กับการให้น้ำเกลือ และสารน้ำ (Volumetric Solution: V/S) ทางหลอดเลือดดำ
    ภาวะขาดน้ำรุนแรง ให้ผงน้ำตาลเกลือแร่ทางปากให้เร็วและมากที่สุด จากนั้นส่งต่อไปยังโรงพยาบาลเพื่อรับสารน้ำทางหลอดเลือดดำต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนอย่างลำไส้อักเสบ หรือฝีในตับที่รุนแรง เช่น ลำไส้ทะลุ ฝีที่ตับมีขนาดใหญ่มาก หรือการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะไม่ได้ผล ก็จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมลำไส้และดูดหนองออกเพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปทั่วร่างกายจนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต


ภาวะแทรกซ้อนของโรคบิด

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคบิดนั้น เป็นอาการที่ควรเฝ้าระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะแต่ละอาการสามารถส่งผลรุนแรงต่อผู้ป่วยได้ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ในผู้ป่วยโรคบิดจะแตกต่างไปตามชนิดของโรค ดังนี้

โรคบิดชนิดไม่มีตัว โดยปกติแล้วโรคบิดชนิดนี้จะไม่ค่อยพบอาการแทรกซ้อน แต่ก็อาจใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนกว่าการทำงานของลำไส้จะกลับมาเป็นปกติ และหากพบภาวะแทรกซ้อนก็มักมีอาการดังต่อไปนี้

    ภาวะขาดน้ำ การท้องเสียติดต่อกันนาน ๆ จะทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะขาดน้ำ และหากเกิดการขาดน้ำอย่างรุนแรงก็อาจทำให้เกิดอาการช็อก และเสียชีวิตได้
    อาการชัก กรณีโรคบิดในเด็ก อาการของบิดจะทำให้เด็กมีไข้สูง จนเกิดอาการชักได้ ซึ่งหากมีอาการควรรีบติดต่อแพทย์โดยทันที
    ทวารหนักโผล่ (Rectal Prolapse) การเคลื่อนของลำไส้ที่ผิดปกติจากโรคบิด อาจทำให้เยื่อเมือกบุผนังลำไส้หรือหนังลำไส้ตรงเคลื่อนออกมาอยู่นอกทวารหนักได้
    ภาวะเม็ดเลือดแดงแตกและไตวายเฉียบพลัน (Hemolytic Uremic Syndrome) ในผู้ป่วยโรคบิดชนิดไม่มีตัวบางรายที่มีสาเหตุมาจากเชื้ออี โคไล สามารถเกิดอาการเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดต่ำจนเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้
    ลำไส้พองตัว (Toxic Megacolon) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อย เมื่อลำไส้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ ก็จะทำให้อาหารหรือแก๊สภายในระบบย่อยอาหารไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ หากไม่ได้รับการรักษา ลำไส้อาจแตกและทำให้เชื้อโรคแพร่กระจาย ซึ่งต้องเข้ารับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน หากรักษาไม่ทันก็จะทำให้เสียชีวิตได้
    โรคข้ออักเสบรีแอคทีฟ (Reactive Arthritis) อาการนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการติดเชื้อในร่างกาย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการปวดตามข้อ และเกิดอาการอักเสบร่วมด้วย นอกจากนี้ยังอาจพบอาการคัน หรือระคายเคืองตา หากปัสสาวะก็จะรู้สึกเจ็บ

โรคบิดชนิดมีตัว การติดเชื้อจากอะมีบาอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้ เพราะหากเชื้อหลุดรอดเข้าไปยังกระแสโลหิตก็อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต โดยภาวะแทรกซ้อนที่มักพบ ได้แก่

    ภาวะลำไส้เน่า (Necrotizing Colitis) เกิดจากเชื้ออะมีบาฝังตัวในลำไส้ จนทำให้เนื้อเยื่อบริเวณลำไส้ตายและเน่า หากไม่ได้รับการรักษาอาจเสียชีวิตได้
    ลำไส้พองตัว (Toxic Megacolon) เป็นอาการที่ลำไส้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ ทำให้อาหารหรือแก๊สภายในลำไส้ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ หากไม่ได้รับการรักษา ลำไส้อาจแตกและทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย และเสียชีวิตได้
    ภาวะทวารหนักทะลุเข้าช่องคลอด (Rectovaginal Fistula) เป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคบิดชนิดมีตัวในเพศหญิง ซึ่งหากมีอาการอักเสบของบริเวณลำไส้ส่วนทวารหนักเรื้อรัง จะทำให้ผนังลำไส้ส่วนดังกล่าวอ่อนแอ จนทำให้เกิดการทะลุ ทำให้อุจจาระไหลเข้าไปที่ช่องคลอดได้
    ฝีที่ตับ (Liver Abscess) เมื่อตัวอะมีบาแพร่กระจายเข้าไปในกระแสเลือดและไปที่ตับ ก็อาจทำให้เกิดฝีที่ตับ และอาจก่อให้เกิดการปริแตกของเยื่อหุ้มช่องท้อง เยื่อหุ้มทรวงอก และเยื่อหุ้มหัวใจได้ รวมทั้งฝีอาจแพร่กระจายไปยังเยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มหัวใจ และเยื่อหุ้มสมอง จนเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

นอกจากนี้ยังอาจพบภาวะแทรกซ้อน อื่น ๆ ได้อีก เช่น ลำไส้ทะลุ เลือดออกในทางเดินอาหาร ลำไส้ตีบตัน ภาวะลำไส้กลืนกัน (Intussusception) เยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Peritonitis) และภาวะมีหนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด (Empyema) เป็นต้น


การป้องกันโรคบิด

การรักษาความสะอาดอย่างสม่ำเสมอเป็นวิธีป้องกันโรคบิดที่ดีที่สุด เพราะสุขอนามัยที่ดีจะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อโรคบิดได้ โดยวิธีที่สามารถทำได้ง่าย ๆ เพื่อลดความเสี่ยงโรคบิด ได้แก่

    ล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งหลังจากเข้าห้องน้ำเพื่อกำจัดเชื้อ
    ล้างมือทุกครั้งก่อนใช้มือหยิบจับอาหาร
    หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น
    หากในครอบครัวมีผู้ป่วยโรคบิด ควรรักษาความสะอาดและสุขอนามัยให้มากขึ้น รวมทั้งป้องกันการติดเชื้อ หรือการแพร่กระจายของเชื้อด้วยการทำความสะอาดเสื้อผ้าหรือเครื่องใช้ส่วนตัวที่เป็นผ้าด้วยน้ำร้อนเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่อาจติดอยู่กับผ้า
    ดื่มน้ำจากแหล่งน้ำที่สะอาดเพื่อป้องกันเชื้อที่อาจปะปนอยู่ในน้ำ

นอกจากนี้ หากต้องเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่มีสุขอนามัยไม่ดี หรือมีความเสี่ยงที่จะมีการแพร่ระบาดของเชื้อ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่ไม่ได้บรรจุอย่างถูกสุขลักษณะ โดยควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำจากก๊อกน้ำ หลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำแข็ง ไอศกรีม สัตว์ทะเลที่มีเปลือก อาหารที่มีผักสด หรือผลไม้ที่ผ่านการปอกเปลือกแล้ว เพราะอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนได้