ผู้เขียน หัวข้อ: doctor at home: โรคสครับไทฟัส (Scrub typhus)  (อ่าน 131 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 596
  • ผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรม โพสฟรี
    • ดูรายละเอียด
doctor at home: โรคสครับไทฟัส (Scrub typhus)
« เมื่อ: วันที่ 30 สิงหาคม 2024, 20:20:20 น. »
doctor at home: โรคสครับไทฟัส (Scrub typhus)

สครับไทฟัส* เป็นโรคที่แพร่เชื้อมาจากสัตว์ พบบ่อยในพื้นที่ชนบทและป่าเขา ในบ้านเรามีรายงานโรคนี้ประมาณปีละ 3,000-4,000 ราย พบได้ทุกภาคของประเทศ

มักพบในกลุ่มชาวไร่ ชาวสวน นักล่าสัตว์ ทหาร นักวิทยาศาสตร์ และผู้ที่ออกไปตั้งค่ายในป่า

โรคนี้ชาวบ้านบางแห่งเรียกว่า ไข้แมงแดง

*ไทฟัส (typhus) หรือไข้รากสาดใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อริกเกตเซีย (rickettsia) ซึ่งมีอยู่หลายชนิด ในที่นี้จะกล่าวถึงชนิดที่พบบ่อยในบ้านเรา ได้แก่ สครับไทฟัส

นอกจากนี้ ยังอาจพบมิวรีนไทฟัส (murine typhus หรือ endemic typhus) ที่พบมากทางภาคใต้ เกิดจากเชื้อริกเกตเซียไทฟิ (Rickettsia typhi) ซึ่งมีหมัดหนู (rat flea) เป็นพาหะ มักมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีผื่นขึ้น โดยไม่มีสะเก็ดแผลไหม้แบบสครับไทฟัส อาจมีอาการตับโต ม้ามโต และอาการทางระบบประสาท (เช่น ซึม ชัก) ประมาณร้อยละ 10 อาจมีอาการรุนแรง ซึ่งอาจเสียชีวิตจากภาวะไตวาย การหายใจล้มเหลว ช็อก ภาวะแทรกซ้อนทางสมอง ให้การรักษาแบบเดียวกับสครับไทฟัส


สาเหตุ

เกิดจากเชื้อริกเกตเซีย ที่มีชื่อว่า โอเรียนเทียซูซูกามูชิ (Orientia tsutsugamushi ซึ่งเดิมเรียกว่า Rickettsia tsutsugamushi หรือ Rickettsia orientalis) โดยมีไรอ่อน (chigger หรือ laval-stage trombiculid mites) เป็นพาหะนำโรค ระยะฟักตัว 4-18 วัน

ตัวไรแก่อาศัยอยู่บนหญ้าและวางไข่บนพื้นดิน ไข่จะฟักเป็นตัวอ่อนที่มี 6 ขาและมีสีแดง ไรอ่อนจะกระโดดเกาะสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์แทะ นก หรือผู้ที่เดินผ่านไปมาเพื่อดูดน้ำเหลืองเป็นอาหาร ถ้าคนหรือสัตว์มีเชื้อริกเกตเซียชนิดนี้อยู่ เชื้อก็จะเข้าไปอยู่ในลำไส้และต่อมน้ำลายของไรอ่อน แล้วเจริญแบ่งตัวในขณะที่ไรอ่อนกลายเป็นตัวแก่ ตัวแก่เมื่อวางไข่ก็จะมีเชื้อโรคแพร่ติดอยู่ เมื่อฟักเป็นไรอ่อนก็จะเป็นไรอ่อนที่มีเชื้อโรค เมื่อไปกัดคนหรือสัตว์ก็จะแพร่เชื้อให้คนหรือสัตว์นั้นต่อไป

ในบ้านเราสัตว์ที่เป็นรังโรค (มีเชื้อโรคในร่างกาย) คือ หนูเป็นส่วนใหญ่ ส่วนน้อยอาจพบในกระแต และ กระจ้อน

สัตว์ที่เป็นรังโรคและไรอ่อนที่เป็นพาหะนำโรค อาจอยู่ตามพื้นที่ที่เป็นทุ่งหญ้า ป่าละเมาะ ทุ่งหญ้าคา ไร่พริก สวนยาง พุ่มไม้เตี้ย ๆ และป่าสูง ซึ่งมีอยู่แทบทุกภาคของประเทศ


อาการ

หลังถูกไรอ่อนกัด 4-18 วัน จะมีอาการปวดศีรษะที่ขมับและหน้าผาก และจับไข้หนาวสั่น ไข้สูงตลอดเวลา (ไข้อาจเป็นอยู่นาน 2-3 สัปดาห์) หน้าแดง ตาแดง และกลัวแสง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ท้องผูก

บริเวณที่ถูกกัดจะเจ็บ และมีรอยไหม้ดำเหมือนถูกบุหรี่จี้ รอบ ๆ แผลจะมีอาการบวมแดงแต่ไม่เจ็บ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. และเป็นอยู่นาน 1-3 สัปดาห์ พบได้ประมาณร้อยละ 40 ของผู้ป่วย มักจะพบที่รักแร้ ขาหนีบ รอบเอว ก้น อวัยวะเพศ ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ ๆ จะโตและเจ็บด้วย

ประมาณวันที่ 5-7 หลังมีไข้จะมีผื่นสีแดงคล้ำขึ้นที่ลำตัวก่อน แล้วกระจายไปแขนขา ผื่นจะมีอยู่ 3-4 วันก็หายไป

ผู้ป่วยอาจมีอาการไอร่วมด้วย จากการอักเสบของเนื้อปอด

ภาวะแทรกซ้อน
ในรายที่เป็นรุนแรง อาจถ่ายอุจจาระดำ เพ้อคลั่ง หมดสติ หัวใจวาย (กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ) สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดอักเสบ ภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (ARDS) ไตวายเฉียบพลัน หรือภาวะช็อกจากโลหิตเป็นพิษ


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้

ไข้สูง อาจพบต่อมน้ำเหลืองโตทั่วไป ตับโต ม้ามโต รอยแผลไรกัดลักษณะเหมือนถูกบุหรี่จี้ เรียกว่า สะเก็ดแผลไหม้ หรือ เอสคาร์ (eschar)

อาจพบผื่นแดงตามผิวหนัง (ขึ้นประมาณวันที่ 6 ของไข้) ดีซ่าน หรือคอแข็ง

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการทดสอบทางน้ำเหลืองด้วยวิธี indirect immunofluorescence assay (IFA), indirect immunoperoxidase assay (IIP) หรือ dot-ELISA (ซึ่งทำเป็นชุดตรวจสำเร็จรูป หรือ dipstick test)

บางรายอาจตรวจด้วยวิธี polymerase chain reaction (PCR)

นอกจากนี้ อาจทำการตรวจปัสสาวะ เจาะเลือด ตรวจการทำงานของตับ เอกซเรย์ และตรวจพิเศษอื่น ๆ

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

หากสงสัย ควรส่งโรงพยาบาล แพทย์จะวินิจฉัย

1. ถ้าอาการไม่รุนแรงให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เตตราไซคลีน คลอแรมเฟนิคอล หรือดอกซีไซคลีน

ในหญิงตั้งครรภ์หรือเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี หรือในรายที่ดื้อต่อยาดังกล่าว ก็จะให้ยาปฏิชีวนะอื่น เช่น อะซิโทรไมซิน ไรแฟมพิซิน

2. ถ้ามีอาการรุนแรง เช่น หอบ หัวใจวาย ไตวาย ช็อก ชัก หรือหมดสติ จำเป็นต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล

การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีไข้สูง ร่วมกับอาการหนาวสั่น, มีไข้นานเกิน 7 วัน, หรือ มีไข้ร่วมกับมีรอยไหม้ดำเหมือนถูกบุหรี่จี้ที่รักแร้ ขาหนีบ รอบเอว ก้น หรืออวัยวะเพศ  ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นสครับไทฟัส ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 2-3 วัน
    มีภาวะช็อก (ซึม กระสับกระส่าย ตัวเย็น หน้ามืด เป็นลม)
    มีอาการปวดศีรษะมาก อาเจียนมาก ซึมมาก ไม่ค่อยรู้สึกตัว เพ้อคลั่ง หรือชัก
    หายใจหอบ หรือเจ็บหน้าอกมาก
    ปัสสาวะออกน้อยหรือไม่ออกเลย
    ถ่ายอุจจาระดำ
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

1. ถ้าจะออกไปตั้งค่ายในป่า พยายามอย่าเข้าไปในพุ่มไม้ บริเวณที่ตั้งค่ายควรถางให้โล่งเตียน ควรพ่นยาฆ่าไรบนพื้นดิน และไม่ควรนั่งหรือนอนอยู่กับที่นาน ๆ ควรใส่เสื้อผ้ารัดกุมและทายาป้องกัน

2. กินยาป้องกัน โดยกินดอกซีไซคลีน 200 มก. สัปดาห์ละครั้ง ระหว่างที่อยู่ในพื้นที่ที่มีโรคนี้อยู่ โดยให้เริ่มกินครั้งแรกก่อนเดินทาง 3 วัน และกินต่อจนกระทั่ง 6 สัปดาห์หลังเดินทางกลับออกมาแล้ว

ข้อแนะนำ

1. โรคนี้มักมีไข้สูง หนาวสั่น อาจมีไข้นาน 2-3 สัปดาห์ ตาแดงและมีผื่นขึ้น อาการเหล่านี้มีลักษณะคล้ายมาลาเรีย ไทฟอยด์ เล็ปโตสไปโรซิส ไข้เลือดออก และหัด

แต่ลักษณะเฉพาะของโรคนี้ คือ มีประวัติเดินทางไปต่างจังหวัด หรือเข้าไปในป่า ในสวนหรือในไร่ และอาจพบสะเก็ดแผลไหม้จากไรกัด มีลักษณะไหม้ดำเหมือนถูกบุหรี่จี้

ดังนั้นเมื่อพบผู้ที่เป็นไข้โดยยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน ควรค้นหารอยแผลไรกัด โดยถามผู้ป่วยว่ามีแผลตามร่างกายหรือไม่ และตรวจดูตามผิวหนังอย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณรักแร้ ขาหนีบ รอบเอว ก้น อวัยวะเพศ

2. โรคนี้เมื่อได้รับการรักษา ไข้มักจะลดลงภายใน 24-72 ชั่วโมง และจะหายขาดโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนแต่อย่างใด แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษา บางรายอาจหายได้เอง โดยจะมีไข้อยู่นาน 2-3 สัปดาห์ แต่บางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง โรคนี้มีอัตราตายประมาณร้อยละ 10-30