ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประจำบ้าน: โรคพยาธิไส้เดือน (Ascariasis)  (อ่าน 53 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 669
  • ผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรม โพสฟรี
    • ดูรายละเอียด
หมอประจำบ้าน: โรคพยาธิไส้เดือน (Ascariasis)
« เมื่อ: วันที่ 11 ธันวาคม 2024, 21:21:12 น. »
หมอประจำบ้าน: โรคพยาธิไส้เดือน (Ascariasis)

โรคพยาธิไส้เดือนเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อพยาธิไส้เดือน (Ascaris lumbricoides) ซึ่งเป็นพยาธิตัวกลมชนิดหนึ่ง โดยการกินไข่ที่มีตัวอ่อนของพยาธิไส้เดือน* ระยะติดต่อเข้าไปอยูในร่างกาย ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามอวัยวะที่ตัวพยาธิเข้าไปอาศัยอยู่

โรคนี้พบได้ในคนทุกวัย แต่จะพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ และในเด็กมักมีอาการรุนแรงกว่า เนื่องจากมักจะมีพยาธิในลำไส้เป็นจำนวนมาก

โรคนี้พบมากทางภาคใต้ และอาจพบในภาคอื่น ๆ ได้พอประมาณ


*วงจรชีวิตของพยาธิไส้เดือน

1. พยาธิไส้เดือนตัวเต็มวัย (ตัวแก่) มีรูปร่างคล้ายไส้เดือนสีขาวยาวประมาณ 20-40 ซม. อาศัยอยู่ในลำไส้เล็กของคน ตัวเมียจะออกไข่วันละนับแสนฟอง ซึ่งจะออกมากับอุจจาระ หากคนถ่ายอุจจาระลงพื้นดินหรือในน้ำ ไข่จะอยู่ตามสิ่งแวดล้อม (น้ำ ดิน ทราย ฝุ่นละออง ผักที่ใส่ปุ๋ยทำจากอุจจาระคน)
2. ไข่ที่ไม่ได้รับการผสม แม้คนกินเข้าไปก็ไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อ
3. ส่วนไข่ที่ได้รับการผสม จะเจริญเป็นตัวอ่อน (ในไข่) ในเวลา 10-21 วันซึ่งเป็นระยะติดต่อ
4. เมื่อคนกินอาหาร ผัก ผลไม้ น้ำดื่ม หรืออมนิ้วมือที่เปื้อนไข่พยาธิดังกล่าว ก็จะกลืนเอาไข่พยาธิที่มีตัวอ่อนเข้าไปในลำไส้
5. ตัวอ่อนในไข่จะฟักออกมาเกาะอาศัยอยู่ตามลำไส้
6. ตัวอ่อนจะไชทะลุเยื่อเมือกของลำไส้เข้าไปตามระบบไหลเวียนเลือดและระบบน้ำเหลืองเข้าสู่ปอด และเจริญต่อไปภายในปอดซึ่งใช้เวลา 10-14 วัน แล้วไชทะลุผ่านผนังถุงลม เคลื่อนตัวขึ้นไปตามหลอดลมจนถึงคอหอย
7. ตัวอ่อนจะถูกกลืนกลับลงไปในหลอดอาหารและลำไส้อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ตัวอ่อนก็จะเจริญเป็นตัวเต็มวัย และอาศัยอยู่ในลำไส้ ซึ่งสามารถมีชีวิตได้นานถึง 1-2 ปี

สาเหตุ

การติดต่อของโรคนี้ เกิดจากการกลืนไข่พยาธิไส้เดือนระยะติดต่อที่ปนเปื้อนอาหาร ผัก ผลไม้ น้ำดื่ม หรือนิ้วมือ


อาการ

ถ้ามีพยาธิอยู่ในลำไส้จำนวนน้อย มักจะไม่มีอาการอะไร บางรายอาจถ่ายหรืออาเจียนเป็นตัวไส้เดือน

บางรายอาจมีอาการปวดท้องหรืออาเจียนเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง โดยมักจะมีอาการหลังกินอาหารสัก 1/2 ชั่วโมง

บางรายอาจแสดงอาการลมพิษเรื้อรัง

ในรายที่มีพยาธิจำนวนมาก เด็กอาจมีอาการผอมแห้งแรงน้อย กินข้าวได้แต่ไม่อ้วนขึ้นหรือกลับผอมลง บางรายอาจมีอาการเบื่ออาหาร ปวดท้อง คลื่นไส้ ท้องเดิน

บางรายมีลักษณะพุงโรก้นปอด ขาดอาหาร


ภาวะแทรกซ้อน

ในเด็กอาจเกิดภาวะขาดอาหาร (เช่น ขาดสารโปรตีน วิตามินเอ) เนื่องจากพยาธิไส้เดือนแย่งอาหารในลำไส้

บางครั้งพยาธิอาจรวมเป็นกระจุก ทำให้เกิดอาการอุดกั้นของลำไส้ มีอาการปวดท้องรุนแรง อาเจียนรุนแรง และคลำได้ก้อนที่หน้าท้อง

พยาธิตัวอ่อนที่เคลื่อนตัวผ่านปอด ถ้ามีจำนวนมากอาจทำให้เกิดอาการไอหรือปอดอักเสบ

บางครั้งพยาธิตัวแก่อาจเคลื่อนตัวเข้าไปอุดกั้นในท่อน้ำดี ทำให้มีอาการดีซ่าน และถุงน้ำดีอักเสบ, เข้าไปในอุดกั้นในท่อตับอ่อนทำให้ตับอ่อนอักเสบ, เข้าไปในตับทำให้เป็นฝีตับ, เข้าไปในรูของไส้ติ่ง ทำให้ไส้ติ่งอักเสบ

ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงแต่พบได้น้อยมาก ได้แก่ เป็นแผลที่ลำไส้และมีเลือดออกรุนแรง ลำไส้ทะลุ ลำไส้เน่า ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการบอกเล่า หรือสังเกตเห็นตัวพยาธิที่ถ่ายหรืออาเจียนออกมา จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการตรวจพบไข่พยาธิไส้เดือนในอุจจาระ


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ให้กินยาฆ่าพยาธิ เช่น มีเบนดาโซล, อัลเบนดาโซล เป็นต้น

2. ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อน แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดในรายที่เป็นรุนแรง เช่น ลำไส้อุดกั้น ลำไส้ทะลุ ไส้ติ่งอักเสบ เป็นต้น


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น อาเจียนหรือถ่ายออกมาเป็นตัวพยาธิไส้เดือน, เด็กมีอาการปวดท้อง ท้องเดินบ่อย, เด็กกินอาหารเก่งแต่น้ำหนักไม่ขึ้น หรือผอมแห้งแรงน้อย พุงโรก้นปอด, เป็นลมพิษเรื้อรัง เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคพยาธิไส้เดือน ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 1-2 สัปดาห์
    มีอาการปวดท้องรุนแรง อาเจียนรุนแรง ตาเหลืองตัวเหลือง หรือถ่ายเป็นเลือด
    มีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ ท้องเดินบ่อย โดยไม่ทราบสาเหตุ
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

    ถ่ายอุจจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ อย่าถ่ายอุจจาระลงพื้นดินหรือแม่น้ำลำคลอง
    ล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ก่อนเตรียมอาหารและกินอาหารทุกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กควรกวดขันให้ล้างมือก่อนกินอาหาร และหลังกลับจากการเล่นที่สนามนอกบ้าน เนื่องเพราะเด็กมักเผลอดูดนิ้วมือเล่น ซึ่งอาจมีไข่พยาธิปนเปื้อนได้
    ล้างผักและผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทานทุกครั้ง ถ้าไม่มั่นใจควรกินผักที่ปรุงสุก และกินผลไม้ที่ปอกเปลือก
    ดื่มน้ำสุกหรือน้ำสะอาด และกินอาหารที่ปรุงสุกและร้อน

ข้อแนะนำ

เด็กที่มีอาการปวดท้องหรืออาเจียนบ่อย กินอาหารเก่งแต่น้ำหนักไม่ขึ้น หรือเป็นลมพิษเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน หรือสงสัยว่าอาจเป็นโรคพยาธิไส้เดือน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจดูไข่พยาธิในอุจจาระด้วยกล้องจุลทรรศน์