อาการของโรคไอกรน (Pertussis/Whooping cough) นอกจากแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยแล้ว แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ในรายที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ให้การรักษาตามอาการ เช่น ลดไข้ แก้ไอ เป็นต้น ถ้าให้ยาแก้ไอเพื่อระงับอาการไอไม่ได้ผล ให้ใช้น้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำผึ้ง 4 ช้อนโต๊ะ จิบบ่อย ๆ (สำหรับเด็กอายุมากกว่ากว่า 1 ปี ไม่แนะนำให้ใช้สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี)
ส่วนยาปฏิชีวนะ มักจะให้ในระยะที่เริ่มมีอาการไม่เกิน 1 สัปดาห์ หรือในเด็กที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่เริ่มป่วยเป็นโรคนี้ แต่ยังไม่เกิดอาการ ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงและโรคแทรกซ้อนลงได้ แต่ไม่ช่วยลดระยะของโรคให้สั้นลง ยาที่ใช้ เช่น อีริโทรไมซิน โคไตรม็อกซาโชล ไรแฟมพิซิน อะซิโทรไมชิน คลาริโทรไมซิน เป็นต้น
แต่ถ้ามีอาการแสดงเกิน 1-2 สัปดาห์ การให้ยาปฏิชีวนะมักไม่ได้ผล ยกเว้นในรายที่มีปอดอักเสบหรือหลอดลมอักเสบแทรกซ้อน
ส่วนอาการเลือดออกที่ตาขาว ไม่ต้องทำอะไรจะค่อย ๆ จางหายไปได้เอง
2. ในรายที่มีปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ หรือหูชั้นกลางอักเสบ ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน โคอะม็อกซิคลาฟ, อีริโทรไมซิน, ร็อกซิโทรไมซิน เป็นต้น
3. ในทารกที่มีอาการชักเกร็ง ตัวเขียว หยุดหายใจ แพทย์จะทำการผายปอดโดยการเป่าปาก และใช้ลูกยางดูดเอาเสมหะออก และรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล
4. ถ้ามีอาการหอบหรือขาดน้ำรุนแรง แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล
5. ถ้าพบในเด็กทารกอายุต่ำกว่า 3 เดือน แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล เพื่อการดูแลอย่างใกล้ชิดจนกว่าจะปลอดภัย
6. ถ้าไอเรื้อรังร่วมกับน้ำหนักลด แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติม อาจพบว่ามีวัณโรคกำเริบแทรกซ้อนได้
ผลการรักษา ส่วนใหญ่มักจะมีอาการไอนานเป็นเดือน ๆ (บางรายอาจนานถึง 3 เดือน) ซึ่งจะค่อย ๆ ทุเลาหายไปเอง ส่วนน้อย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี) อาจมีภาวะแทรกซ้อน ซึ่งบางรายแพทย์จำเป็นต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล