ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: เยื่อตาขาวอักเสบจากไวรัส (Viral conjunctivitis)  (อ่าน 14 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 596
  • ผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรม โพสฟรี
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: เยื่อตาขาวอักเสบจากไวรัส (Viral conjunctivitis)

เยื่อตาขาวอักเสบจากไวรัส พบได้บ่อยในคนทุกวัย พบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ พบได้ประปรายตลอดปี

เนื่องจากโรคนี้สามารถติดต่อได้ง่ายและระบาดได้รวดเร็ว จึงนิยมเรียกว่า โรคตาแดงระบาด ซึ่งมักพบระบาดในช่วงเดือนมิถุนายนถึงธันวาคม โดยอาจพบระบาดภายในบ้าน ตามหมู่บ้าน โรงเรียน โรงงาน ที่ทำงาน ค่ายทหาร เป็นต้น

สาเหตุ

เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหลายชนิด ที่พบบ่อยที่สุด คือ กลุ่มไวรัสอะดิโน (adenovirus) ซึ่งมีอยู่หลายชนิดย่อย ๆ

ไวรัสอะดิโนบางชนิด (เช่น ชนิด 3 และ 7) ทำให้มีไข้และการอักเสบของเยื่อตาขาวร่วมกับคอหอย เรียกว่า ไข้เยื่อตาขาวและคอหอยอักเสบ (pharyngoconjunctival fever) ติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรง หรือสัมผัสถูกมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ (เช่น แก้วน้ำ จาน ชาม ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า สบู่ ขันน้ำ ลูกบิดประตู โทรศัพท์ เป็นต้น) ที่แปดเปื้อนเชื้อ และยังอาจติดต่อแบบเดียวกับคอหอยอักเสบ (ไอ จาม หรือสัมผัสถูกสิ่งคัดหลั่งในช่องปากของผู้ป่วย) มีระยะฟักตัว 5-12 วัน

ไวรัสอะดิโนบางชนิด (เช่น ชนิด 8, 19 และ 37) ทำให้มีการอักเสบของเยื่อตาขาวร่วมกับกระจกตา และมีลักษณะระบาดได้รวดเร็ว เรียกว่า เยื่อตาขาวและกระจกตาอักเสบชนิดระบาด (epidemic keratoconjunctivitis/EKC) ติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรง หรือสัมผัสถูกสิ่งของเครื่องใช้ และอาจติดต่อจากการเล่นน้ำในสระว่ายน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน (จากผู้ป่วยที่ลงเล่นน้ำ) มีระยะฟักตัว 5-12 วัน

นอกจากนี้ยังมีไวรัสอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคนี้ คือ กลุ่มไวรัสพิคอร์นา (picornavirus) ซึ่งมีอยู่หลายชนิด ที่สำคัญได้แก่ ไวรัสเอนเทอโรชนิด 70 (enterovirus type 70) และไวรัสค็อกแซกกีเอชนิด 24 (coxsackie virus A type 24) ทำให้เยื่อตาขาวอักเสบร่วมกับเลือดออกใต้เยื่อตาขาว เรียกว่า "Acute hemorrhagic conjunctivitis" ซึ่งพบระบาดได้เช่นกัน ติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรงหรือสัมผัสถูกสิ่งของเครื่องใช้ มีระยะฟักตัว 1-2 วัน

อาการ

มีอาการตาแดง เคืองตาคล้ายผงเข้าตา กลัวแสง น้ำตาไหล มีขี้ตาเล็กน้อย อาจมีอาการหนังตาบวม ลืมตาไม่ค่อยขึ้น

ในรายที่เป็นคอหอยอักเสบร่วมด้วย (ซึ่งพบใน "ไข้เยื่อตาขาวและคอหอยอักเสบ") จะมีไข้ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัวร่วมด้วย

ในรายที่มีการอักเสบของกระจกตาร่วมด้วย หากเป็นรุนแรงมักมีอาการปวดตาและสายตาพร่ามัว

อาการตาแดงตาอักเสบมักจะเริ่มเป็นที่ตาข้างหนึ่งก่อน แล้วจึงลามมาอีกข้างหนึ่งภายใน 2-3 วัน

ส่วนมากอาการมักจะค่อย ๆ ทุเลาลง และหายขาดภายใน 1-3 สัปดาห์


ภาวะแทรกซ้อน

ส่วนใหญ่มักหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ เช่น มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนหรือสายตาพร่ามัว (มองเห็นไม่ชัด) เนื่องจากกระจกตาอักเสบ ซึ่งอาจเป็นนานเป็นสัปดาห์ ๆ ถึงเป็นแรมปี

บางรายอาจมีรอยแผลเป็นที่เยื่อตาขาว หรือการติดกันของเยื่อตาขาวกับลูกตา (symblepharon)

ในรายที่เกิดจากเชื้อไวรัสเอนเทอโรชนิด 70 อาจทำให้เกิดไขสันหลังอักเสบเฉียบพลันแทรกซ้อน มีอาการแขนขาอ่อนแรงได้ ซึ่งพบได้น้อยมาก มักพบในคนอายุมากกว่า 20 ปี หลังตาอักเสบ 5 วันถึง 6 สัปดาห์


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก

สิ่งตรวจพบที่สำคัญ ได้แก่ อาการตาแดง หนังตาบวม ต่อมน้ำเหลืองที่หน้าหูโต ซึ่งจะเริ่มเป็นข้างหนึ่งก่อน แล้วลามไปอีกข้าง

บางรายอาจตรวจพบไข้ (38-40 องศาเซลเซียส) คอหอยแดงเล็กน้อย

บางรายอาจพบมีเลือดออกเป็นจุดเล็ก ๆ จุดใหญ่ ๆ หรือเป็นปื้นแดงที่ใต้เยื่อตาขาว

ในรายที่วินิจฉัยไม่ได้แน่ชัด แพทย์อาจนำของเหลวที่ตา (น้ำตา ขี้ตา) ไปตรวจหาเชื้อ


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้พาราเซตามอลแก้ปวดลดไข้ ประคบตาด้วยความเย็น ซึ่งช่วยบรรเทาอาการปวดตา เป็นต้น

ถ้ามีอาการเคืองตามาก ใช้น้ำตาเทียมหยอดตาวันละ 3-4 ครั้งเพื่อบรรเทาอาการ

ในรายที่พบว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน (ซึ่งพบได้น้อย) แพทย์จะใช้ยาป้ายตาหรือหยอดตาที่เข้ายาปฏิชีวนะ ทุก 2-4 ชั่วโมง

มีน้อยรายที่อาจมีอาการรุนแรงหรือเรื้อรัง ซึ่งจักษุแพทย์อาจพิจารณาให้ยาหยอดตาสเตียรอยด์หรือยาต้านไวรัส อาทิ

    ในรายที่มีการอักเสบของเยื่อตาขาวอย่างรุนแรง หรือมีการอักเสบของกระจกตาจนทำให้สายตามัวลงอย่างมาก จักษุแพทย์อาจพิจารณาให้ยาหยอดตาสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบ ซึ่งต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจมีผลข้างเคียงได้ เช่น อาจทำให้โรคเริมที่แฝงอยู่กำเริบได้
    ในรายที่ตรวจพบว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเริม จักษุแพทย์จะให้ยาหยอดตาที่มีตัวยาต้านไวรัส (เช่น อะไซโคลเวียร์)

ผลการรักษา ส่วนใหญ่มักจะหายได้เอง ผู้ป่วยจะมีอาการมากอยู่นานไม่เกิน 1 สัปดาห์ และจะค่อย ๆ ทุเลาและหายขาดได้ภายใน 1-3 สัปดาห์โดยการรักษาตามอาการ ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะและยาต้านไวรัส มีน้อยรายที่อาจมีอาการรุนแรงหรือเรื้อรัง หรือมีภาวะแทรกซ้อน


การดูแลตนเอง

เมื่อมั่นใจหรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเยื่อตาขาวอักเสบจากไวรัส ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    ให้การรักษาตามอาการ เช่น

- ถ้ามีอาการปวดตาหรือมีไข้ กินพาราเซตามอล*

- ถ้ารู้สึกเคืองตามาก ใช้น้ำตาเทียมหยอดตา วันละ 3-4 ครั้ง

    นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ห้ามตรากตรำงานหนัก หรือออกกำลังหักโหมเกินไป
    งดใช้คอนแท็กต์เลนส์จนกว่าจะหายดี
    ระวังอย่าเผลอใช้มือขยี้ตา อาจทำให้ติดเชื้อไวรัสที่มือแล้วแพร่ให้คนอื่น และอาจทำให้มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนเนื่องจากมือที่ไม่สะอาด
    หลีกเลี่ยงการซื้อยาหยอดตามาใช้เอง เพราะอาจมีตัวยาที่ไม่ปลอดภัยหรือทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้
    เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อให้ผู้อื่น ผู้ป่วยควรแยกตัวไม่นอนหรืออยู่ใกล้คนอื่น, ไม่ใช้ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว สบู่ และสิ่งของเครื่องใช้อื่น ๆ ร่วมกับผู้อื่น, ควรล้างมือด้วยน้ำกับสบู่หรือชโลมมือด้วยเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ (เพื่อกำจัดเชื้อที่อาจติดที่มือ), ใช้กระดาษทิชชูซับน้ำตาหรือขี้ตา แล้วทิ้งในถังขยะที่มิดชิด และควรหยุดเรียนหรือหยุดงาน พักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ไม่เข้าไปในที่ที่มีคนแออัด และไม่ลงเล่นน้ำในสระว่ายน้ำอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าอาการหายดีแล้ว


ควรไปพบแพทย์/กลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้

    มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลรักษาด้วยตนเองแต่แรก
    มีอาการปวดตารุนแรง ขี้ตาแฉะ มีขี้ตาสีเหลืองหรือเขียว หรือมีอาการตาพร่ามัว
    มีอาการแขนขาอ่อนแรง
    ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 1 สัปดาห์   
    มีอาการที่สงสัยว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาหรือแพ้ยา เช่น ลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม หายใจมีเสียงดังวี้ด ๆ หายใจลำบาก เวียนศีรษะ หน้ามืดเป็นลม ปวดท้อง ท้องผูก ท้องเดิน ถ่ายอุจจาระดำ คลื่นไส้ อาเจียน ดีซ่าน (ตาเหลือง) จุดแดงจ้ำเขียว เป็นต้น

*เพื่อความปลอดภัย ควรขอคำแนะนำวิธีและขนาดยาที่ใช้ ผลข้างเคียงของยา และข้อควรระวังในการใช้ยาจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ โดยเฉพาะการใช้ยาในเด็ก สตรีที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว หรือมีการใช้ยาบางชนิดที่แพทย์สั่งใช้อยู่เป็นประจำ

การป้องกัน

    หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรคตาแดง ตาอักเสบ
    หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของเครื่องใช้ (เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว คอนแทคเลนส์ แว่นตา หมอน แก้วน้ำ จาน ชาม สบู่ ขันน้ำ โทรศัพท์ เป็นต้น) ร่วมกับผู้ที่เป็นโรคตาแดง ตาอักเสบ
    หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่หรือชโลมมือด้วยเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ
    ระวังอย่าเผลอใช้มือขยี้ตา
    ในช่วงที่มีการระบาดของโรคนี้ ควรหลีกเลี่ยงการเล่นน้ำในสระว่ายน้ำ และการเข้าไปในที่ที่มีคนแออัด

ข้อแนะนำ

1. โรคนี้ส่วนใหญ่เป็นเพียงเล็กน้อย และหายได้เองภายใน 1-3 สัปดาห์ ส่วนในรายที่มีกระจกตาอักเสบร่วมด้วยก็มักจะไม่รุนแรงและไม่มีภาวะแทรกซ้อน (เช่น แผลกระจกตา) แต่อาจเป็นกระจกตาอักเสบแบบเรื้อรัง อย่างไรก็ตาม ถ้าแพทย์ให้การรักษาแล้วอาการไม่หายดีใน 3 สัปดาห์ หรือมีอาการปวดตารุนแรง หรือตาพร่ามัวมากขึ้น ก็ควรปรึกษาจักษุแพทย์

2. เยื่อตาขาวอักเสบจากไวรัสบางชนิด อาจเกิดไขสันหลังอักเสบเฉียบพลันแทรกซ้อน ทำให้มีอาการแขนขาอ่อนแรง แม้ว่าพบได้ไม่บ่อยนัก แต่ผู้ป่วยที่เป็นโรคตาแดงระบาด (จากไวรัส) ควรสังเกตอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นนี้อย่างใกล้ชิด หากสงสัยควรไปพบแพทย์โดยเร็ว