ไฟลามทุ่ง (เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นตื้นอักเสบ) เป็นการอักเสบของผิวหนังชั้นหนังแท้และเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นตื้น ๆ รวมทั้งท่อน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียง
สาเหตุ
ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ และสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มอื่น มักพบในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นเบาหวาน หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำจากโรค หรือจากยา (เช่น ยาสเตียรอยด์ ยากดภูมิคุ้มกัน) หรือมีภาวะอุดตันของหลอดเลือด หรือท่อน้ำเหลือง หรือเกิดขึ้นในบริเวณที่มีอาการบวมเรื้อรัง หรือมีเนื้อตาย เชื้อจะเข้าทางรอยถลอกหรือรอยแยกของผิวหนัง (เช่น แมลงกัด หนามตำ ผิวหนังมีรอยขีดข่วน หรือฮ่องกงฟุต)
อาการ
มักเกิดขึ้นฉับพลัน แรกเริ่มจะมีไข้สูงหนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมาจะมีอาการเป็นผื่นแดงสด ต่อมาจะบวมแข็งตึงและผิวมีลักษณะมันคล้ายผิวส้ม ผื่นจะลุกลามขยายออกโดยรอบอย่างรวดเร็ว ผิวหนังในบริเวณนั้นจะนูนเป็นขอบแยกจากผิวหนังที่ปกติอย่างชัดเจน และคลำดูจะออกร้อนกว่าผิวหนังปกติ เมื่อกดตรงบริเวณนั้นสีจะจางลง และมีรอยบุ๋มเล็กน้อย ถ้าเป็นมากอาจมีตุ่มน้ำพอง ในระยะท้ายผื่นจะยุบลง ผิวหนังลอกเป็นขุย และเมื่อหายแล้วจะไม่เป็นแผลเป็น
มักเกิดที่บริเวณหน้า อาจเป็นที่แก้มข้างเดียว หรือ 2 ข้าง บางรายอาจเกิดที่แขนหรือขา
ถ้าเป็นบ่อย ๆ อาจทำให้ท่อน้ำเหลืองเกิดการพองตัวอย่างถาวร ถ้าเป็นที่เท้าหรือขา ทำให้ผิวหนังในบริเวณนั้นมีลักษณะขรุขระ
ไฟลามทุ่ง: รอยโรคที่ผิวมีลักษณะคล้ายผิวส้ม
ภาวะแทรกซ้อน
เชื้ออาจลุกลามเข้าเนื้อเยื่อในชั้นที่อยู่ลึกลงไป ทำให้เกิดการอักเสบรุนแรงทำให้เนื้อตาย และอาจลุกลามเข้ากระแสเลือดกลายเป็นโลหิตเป็นพิษได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยเบาหวาน กินยาสเตียรอยด์มานาน หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำจากสาเหตุอื่น
ในรายที่เกิดจากเชื้อบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ อาจทำให้เป็นหน่วยไตอักเสบเฉียบพลันได้ (มีอาการไข้สูง บวมทั้งตัว ปัสสาวะสีแดง) ซึ่งพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ถ้าจำเป็นแพทย์จะนำหนองจากรอยโรคไปตรวจหาเชื้อ เอกซเรย์ หรือนำเลือดไปเพาะเชื้อในรายที่มีภาวะโลหิตเป็นพิษ
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ให้ผู้ป่วยพักผ่อน พยายามอย่าเคลื่อนไหวส่วนที่อักเสบ ยกแขนหรือขาส่วนที่อักเสบให้สูง และใช้น้ำอุ่นจัด ๆ ประคบ
ผู้ป่วยสามารถกินอาหารได้ตามปกติ ไม่มีของแสลง ควรกินอาหารพวกโปรตีน (เนื้อ นม ไข่) ให้มาก ๆ ให้ยาแก้ปวดลดไข้ ถ้าปวดหรือมีไข้
2. ให้ยาปฏิชีวนะ (เช่น เพนิซิลลินวี, อีริโทรไมซิน, โคอะม็อกซิคลาฟ) ถ้าดีขึ้นให้ยาต่อจนครบ 10 วัน
3. ถ้าไม่ดีขึ้นใน 2-3 วัน หรือมีอาการรุนแรงหรือสงสัยมีภาวะโลหิตเป็นพิษแทรกซ้อน หรือพบในผู้ที่เป็นเบาหวานหรือมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล และให้ยาปฏิชีวนะชนิดฉีด บางรายอาจต้องทำการผ่าตัดระบายหนองหรือตัดเอาเนื้อตายออกไป
การดูแลตนเอง
หากสงสัยเป็นไฟลามทุ่ง (เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นตื้นอักเสบ) ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
เมื่อตรวจพบว่าเป็นไฟลามทุ่ง(เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นตื้นอักเสบ) ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 2-3 วัน
มีไข้สูง หนาวสั่น ซึม เบื่ออาหาร หรือการอักเสบรุนแรงมากขึ้น
ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
เมื่อมีบาดแผล รอยถลอก หรือรอยแตกแยกของผิวหนัง (เช่น แมลงกัด หนามตำ ผิวหนังมีรอยขีดข่วน หรือฮ่องกงฟุต)
ควรล้างแผลด้วยน้ำสะอาดกับสบู่ทันที เพื่อชะล้างเอาสิ่งสกปรกออกไป
ทารอบแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน
อย่าให้แผลถูกน้ำ หรือใช้น้ำลาย น้ำหมาก หรือสิ่งสกปรกอื่น ๆ พอกที่แผล
ควรพักส่วนที่เป็นบาดแผลให้มาก ๆ
กินอาหารได้ตามปกติ ควรกินอาหารพวกโปรตีน ผักและผลไม้ให้มาก ๆ
หลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำในทะเล และระวังไม่ให้แผลถูกน้ำทะเล
ถ้าบาดแผลสกปรก แผลถูกสัตว์หรือคนกัด ถูกตะปู หรือถูกไฟไหม้น้ำร้อนลวกพอง หรือพบบาดแผลในผู้ป่วยเบาหวาน เอดส์ โรคตับเรื้อรัง หรือโรคไตเรื้อรัง ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสม
ข้อแนะนำ
ผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ควรรีบไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่แรก หากปล่อยปละละเลยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นเบาหวานหรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจเกิดภาวะโลหิตเป็นพิษเป็นอันตรายได้
ข้อมูลโรค: ไฟลามทุ่ง (Erysipelas) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/disease-conditions