ผู้เขียน หัวข้อ: ศูนย์ข้อมูลโควิด-19: อัปเดต ‘สายพันธุ์โควิด-19’ ในไทย พร้อมเช็คอาการเบื้องต้น  (อ่าน 148 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 597
  • ผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรม โพสฟรี
    • ดูรายละเอียด
นับเป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้วที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในขณะเดียวกันก็มีการพบการกลายพันธุ์ไปตามสภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นที่จนเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ ๆ สำหรับประเทศไทยเองก็มีการรับเชื้อโควิดกลายพันธุ์เข้ามาจากที่ต่าง ๆ และมีการแพร่ระบาดอยู่หลากหลายสายพันธุ์ในขณะนี้ ศูนย์การตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์ เมดิคอลไลน์ แล็บ จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับสายพันธุ์โควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดในประเทศไทย พร้อมอาการเบื้องต้นของแต่ละสายพันธุ์

สายพันธุ์ S (Serine)

โควิดสายพันธุ์ S (Serine) หรือ สายพันธุ์อู่ฮั่น เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมที่พบครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน โดยระบาดระลอกแรกในไทยเดือนมีนาคม 2563 จากคลัสเตอร์สนามมวยที่ลุมพินี ราชดำเนิน และอ้อมน้อย
อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์ S

    มีไข้ตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป
    ไอแห้ง ไอต่อเนื่อง
    หอบเหนื่อย
    หายใจลำบาก
    อ่อนเพลีย
    การรับรสหรือได้กลิ่นผิดปกติ


สายพันธุ์อัลฟ่า (Alpha)

โควิดสายพันธุ์อัลฟ่า หรือ สายพันธุ์อังกฤษ พบครั้งแรกที่เมืองเคนต์ในประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2563 ก่อนจะเข้ามาระบาดในประเทศไทยเมื่อต้นเดือนมกราคม 2564 และแพร่ระบาดอย่างหนักจากคลัสเตอร์ทองหล่อ ปัจจุบันเป็นสายพันธ์ุหลักที่ระบาดไปแล้วกว่า 138 ประเทศทั่วโลก เนื่องจากสายพันธุ์นี้แพร่กระจายเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่นมากถึง 40-70% และยังเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดี ทำให้มีอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตสูงขึ้นถึง 30%
อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์อัลฟ่า

    มักมีไข้ตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป
    ไอ เจ็บคอ
    มีน้ำมูก
    ปวดศีรษะ
    ปวดเมื่อยร่างกาย
    หนาวสั่น
    หายใจหอบเหนื่อย
    อาเจียนหรือท้องเสีย
    การรับรสหรือได้กลิ่นผิดปกติ


สายพันธุ์เบต้า (Beta)

โควิดสายพันธุ์เบต้า หรือ สายพันธุ์แอฟริกา พบครั้งแรกในอ่าวเนลสันแมนเดลา เมืองอีสเทิร์นเคปของแอฟริกาใต้เมื่อเดือนตุลาคม 2563 พบครั้งแรกในไทยที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 สำหรับสายพันธุ์เบต้าพบว่ามีอัตราการแพร่เชื้อไวขึ้น 50% จากสายพันธุ์เดิม อีกทั้งมีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งสำคัญ จึงทำให้เชื้อไวรัสมีความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้น ดังนั้น ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันหรือเคยติดเชื้อแล้วก็จะยังสามารถติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์นี้ซ้ำได้อีก
อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์เบต้า

    เจ็บคอ
    ปวดศีรษะ
    ปวดเมื่อยร่างกาย
    ท้องเสีย
    ตาแดง
    การรับรสหรือได้กลิ่นผิดปกติ
    มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง
    นิ้วมือหรือนิ้วเท้าเปลี่ยนสี

 

สายพันธุ์เดลต้า (Delta)

โควิดสายพันธุ์เดลต้า หรือ สายพันธุ์อินเดีย เป็นสายพันธุ์ที่พบในประเทศอินเดีย ก่อนจะมีการกระจายไปในหลายประเทศทั่วโลก โดยสายพันธุ์นี้สามารถจับเซลล์ของมนุษย์ได้ง่ายขึ้น ติดง่ายขึ้น แพร่กระจายเชื้อได้รวดเร็วกว่า จึงระบาดเร็ว โดยในประเทศไทยพบครั้งแรกที่คลัสเตอร์แคมป์คนงานหลักสี่ และเป็นสายพันธ์ุหลักที่กำลังแพร่ระบาดรุนแรงในบ้านเราอยู่ขณะนี้ นอกจากนี้ ยังพบว่าโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าสามารถกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์เดลต้า พลัส ซึ่งทำให้ผู้ที่สัมผัสเชื้อติดเชื้อง่ายกว่าเดิม ทั้งยังหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้ดี
อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์เดลต้า

    มีอาการทั่วไปคล้ายหวัดธรรมดา
    ปวดศีรษะ
    มีน้ำมูก
    เจ็บคอ
    การรับรสชาติปกติ

ตราบใดที่โควิด-19 ยังคงไม่หมดไปจากบ้านเรา การดูแลและป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัดก็ยังมีความจำเป็น ทั้งการสวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่างทางสังคม หลีกเลี่ยงการสัมผัสพื้นที่สาธารณะหากไม่จำเป็น เหนือสิ่งอื่นใด ควรหมั่นรักษาสุขภาพ ดูแลร่างกายให้แข็งแรง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ และหากพบว่าตนเองมีอาการเข้าข่าย เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ และหายใจเหนื่อยหรือหายใจลำบาก และมีประวัติสัมผัสหรือใกล้ชิดบุคคลที่มาจากพื้นที่ที่มีการระบาดหรือได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 ควรรีบไปตรวจโควิดทันทีเพื่อจะได้ทราบผลและหาทางรักษาได้อย่างทันท่วงที


สายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron)

โอไมครอน หรือ โอมิครอน คือ โควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ล่าสุดที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้เป็นสายพันธุ์ระดับที่น่ากังวล (Variants of Concern: VOC) ถูกค้นพบครั้งแรกในแถบแอฟริกาใต้ในช่วงสิ้นปี 2564 ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีกระจายไปหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่มีอัตราการระบาดค่อนข้างรวดเร็วหลังพบผู้ติดเชื้อชาวอเมริกันที่บินจากสเปน แวะดูไบ ก่อนเข้าไทยเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 โดยสายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์ส่วนโปรตีนหนามมากถึง 32 ตำแหน่ง ทำให้สามารถหลบหลีกภูมิต้านทานได้มากขึ้น เข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น ส่งผลต่อการลดประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีอยู่ปัจจุบันอย่างมาก และมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการกลับมาติดเชื้อซ้ำเพิ่มขึ้น แต่ผู้ป่วยมักติดเชื้อในลักษณะที่เป็นระบบทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ลงปอด จึงทำให้มีอาการป่วยไม่รุนแรงมาก
อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน

    จมูกยังสามารถได้กลิ่น
    ลิ้นรับรสได้ดี
    ไม่ค่อยมีไข้
    ไอมาก
    มีอาการเจ็บคอ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ปอดอักเสบ

 
สายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) – BA.2

สายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน BA.2 จัดเป็นหนึ่งในสายพันธุ์โควิดใหม่ล่าสุดที่มาเร็วและมาแรงที่สุด แต่มีอาการแสดงน้อยคล้ายอาการของคนเป็นหวัด หรือแทบจะไม่มีอาการเลยในบางราย จนได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘สายพันธุ์ล่องหน’ (Stealth Variant) ที่สำคัญคือโอมิครอน BA.2 นั้นมีความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกันได้สูงกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ก่อนหน้า ซึ่งหมายความว่าแม้ผู้ป่วยจะได้รับวัคซีนป้องกันโควิดไปแล้วกี่เข็มก็ตาม แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะติดเชื้อโอมิครอน BA.2 ได้ในเวลาอันรวดเร็ว

อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน – B.2

    เจ็บคอ
    ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเล็กน้อย
    เหนื่อย อ่อนเพลีย
    ไอแห้งและต่อเนื่อง
    มีเหงื่อออกมากตอนกลางคืน

 

สายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) – BA.2.75

สำหรับโอไมครอน หรือ โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 มีการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้น 9 ตำแหน่งจาก สายพันธุ์ย่อย BA.2 ในจำนวนนี้มี 2 ตำแหน่งสำคัญที่อาจทำให้เกิดการหลบภูมิคุ้มกัน ทำให้ติดเชื้อง่ายขึ้น และทำให้ไวรัสจับกับเซลล์ปอดและรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้น เพิ่มโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อ พบครั้งแรกในต่างประเทศตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 แต่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในอินเดียในช่วงเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา และได้กระจายไปหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก ฝรั่งเศส อิตาลี สำหรับในประเทศไทย มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 รายแรกที่ จ.ตรัง โดยองค์การอนามัยโลกได้จัดสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 ให้อยู่ในกลุ่มสายพันธ์ที่น่ากังวลที่ต้องจับตาดู (VOC-LUM)

อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน – BA.2.75

    เจ็บคอ คอแห้ง คันคอ
    มีไข้ต่ำ
    น้ำมูกไหล
    จาม
    อ่อนเพลีย
    ปวดศีรษะ

 
สายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) – BA.4/BA.5

โควิดสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 เป็นเชื้อกลายพันธุ์ของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอนที่พบการแพร่ระบาดไปก่อนหน้านี้ โดยมีการพบผู้ติดเชื้อรายแรกในแถบแอฟริกาเมื่อช่วงเดือนมกราคม 2565 ในปัจจุบันพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์นี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลกจนองค์กรอนามัยโลกได้ประกาศให้สายพันธุ์ BA.4/BA.5 เป็นสายพันธุ์ย่อยที่ต้องเฝ้าระวัง (VOC) และคาดว่าจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักของการแพร่ระบาดทั่วโลก เนื่องจากสายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง L452R ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกันกับสายพันธุ์เดลต้า (Delta) กล่าวคือเชื้อไวรัสมีความสามารถในการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนในเซลล์ปอดได้ดี ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการปอดอักเสบในผู้ติดเชื้อ แตกต่างจากสายพันธุ์ BA.1/ BA.2 ที่เชื้อมีความสามารถในการแบ่งตัวได้ดีในเซลล์ของเยื่อบุระบบทางเดินหายใจส่วนบน โดย BA.5 จัดเป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้เร็วที่สุด โดยแพร่ได้เร็วกว่าไวรัสอู่ฮั่น 5 เท่า และแพร่ได้เร็วกว่าเดลต้า 3.6 เท่า

อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน – BA.4/BA.5

    อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
    ไอแห้ง เจ็บคอ มีน้ำมูก
    มีไข้ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้
    ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อยตามร่างกาย
    ถ่ายเหลว

 

สายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) – BA.4.6

BA.4.6 เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ย่อยของโควิดโอไมครอน หรือ โอมิครอน ถือว่าเป็นแขนงย่อยของ BA.4 อีกทีหนึ่ง ซึ่งสายพันธุ์ย่อยดังกล่าวนี้มีคุณสมบัติด้านการกลายพันธุ์แบบเดียวกับสายพันธุ์ย่อย BA.4 ซึ่งการกลายพันธุ์ที่โดดเด่นดังกล่าวเกิดขึ้น ณ ตำแหน่งโปรตีนหนามที่เรียกกันว่า R346T พบการระบาดอย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกา โดยแฉพาะในแถบ 4 มลรัฐ คือ ไอโอวา (Iowa) แคนซัส (Kansas) มิสซูรี (Missouri) และเนบราสกา (Nebraska) และอีก 43 ประเทศทั่วโลก โดยมีอัตราการเติบโตแพร่ระบาด (Relative Growth Advantage) สูงกว่า BA.4/BA.5 และ BA.2.75 ทำให้ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา ( U.S. CDC) ปรับให้โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย  BA.4.6 เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concern) เนื่องจากมีการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายพันธุ์ต่างไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิมอู่ฮั่นประมาณ 83 ตำแหน่ง ในขณะที่ BA.2.75 กลายพันธุ์ไป 95 ตำแหน่ง, BA.5 กลายพันธุ์ไป 90 ตำแหน่ง, และ  BA.4 กลายพันธุ์ไป 78 ตำแหน่งต่างจากไวรัสดั้งเดิมอู่ฮั่น ซึ่งตำแหน่งกลายพันธุ์คล้ายเดลต้า และเบต้าบางส่วน ขณะที่ในประเทศไทยยังไม่พบผู้ป่วยสายพันธุ์นี้ อย่างไรก็ตาม คงจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดกันต่อไปว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ BA.4.6 จะมีความสามารถในการแพร่กระจาย ก่อโรครุนแรง ลดภูมิต้านทาน และดื้อต่อวัคซีนมากน้อยเพียงใด หากมีการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมมาก ก็อาจเป็นไปได้ว่าจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนเจนเนอเรชั่นที่ 2 อย่างแน่นอน

ปัจจุบันพบผู้ป่วยในไทยแล้ว 3 ราย ส่วนจำนวนผู้ป่วยรวมทั่วโลกมีราว 42,000 คน

อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน – BA.4.6

    เจ็บคอ
    ปวดศีรษะ
    คัดจมูก
    ไอ (ไม่มีเสมหะ)
    น้ำมูกไหล


สายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) – BQ.1

สายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน BQ.1 เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์ BA.5 ที่องค์การอนามัยโลกระบุเป็นสายพันธุ์ที่เฝ้าจับตามอง และมีการระบาดในอเมริกาและยุโรป สำหรับประเทศไทยเพิ่งพบผู้ป่วยรายแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยผู้ป่วยรายดังกล่าวเป็นชายชาวต่างชาติ อายุ 40 ปีที่เดินทางมาจากประเทศจีน ได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ต่อมาทางโรงพยาบาลส่งตัวอย่างมาตรวจทางห้องปฏิบัติการและสุ่มตรวจสายพันธุ์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และได้ทำการถอดรหัสพันธุกรรมตัวอย่างดังกล่าว จากนั้นส่งเข้าฐานข้อมูล GISAID ตั้งแต่ 21 กันยายน 2565 ซึ่งในขณะนั้นยังถูกจัดเป็นสายพันธุ์ BE.1.1 เป็นลูกหลานของสายพันธุ์ BA.5.3 ต่อมาเมื่อมีข้อมูลมากขึ้นได้ถูกปรับเป็นสายพันธุ์ BQ.1 ที่มีการกลายพันธุ์บริเวณส่วนหนามที่สำคัญ คือ K444T, L452R, N460K, และ F486V ทำให้สายพันธุ์ย่อยนี้สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกัน และแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันยังไม่มีสัญญาณความรุนแรง แต่อาจทำให้มีการแพร่และติดเชื้อง่ายขึ้น อีกทั้งดื้อต่อยาแอนติบอดีสำเร็จรูปตัวสำคัญที่ใช้เพื่อรักษาโรค COVID-19 เช่น เอวูเชลด์ (Evusheld) และ เบบเทโลวิแมบ (Bebtelovimab) ซึ่งทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ไทยก็ชี้แจงไว้ว่าโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยนี้มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนและแพร่ติดต่อได้เร็วกว่า โดยระบุไว้ด้วยว่าสายพันธุ์ย่อยใหม่น่าจะเข้ามาแทนที่ BA.5 ได้ภายในสิ้นปีนี้ หรือต้นปี 2566

อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน – BQ.1

    อ่อนเพลีย มีไข้
    ไอ คัดจมูก เจ็บคอ
    คลื่นไส้ ท้องเสีย
    ปวดกล้ามเนื้อหรือปวดศีรษะ

 
สายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) – XBB

ส่วนโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย XBB เป็นสายพันธุ์ผสมระหว่างสายพันธุ์ BJ.1 และ BM.1.1.1 โดยมีบรรพบุรุษร่วมกันคือ BA.2 และมีการระบาดกระจายไป 70 ประเทศทั่วโลก โดยพบมากในอินเดีย โดมินิกัน สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังในประเทศไทยพบสายพันธุ์ XBB จำนวน 13 ราย รายแรกเป็นหญิงต่างชาติอายุ 60 ปี เดินทางมาจากฮ่องกง และมาตรวจในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ส่วนรายที่ 2 เป็นชาวไทยอายุ 49 ปี เดินทางมาจากสิงคโปร์ ไปโรงพยาบาลเดียวกัน มีอาการไอ คัดจมูก สิ่งสำคัญที่ต้องระวังคือเชื้อไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกัน ทั้งจากการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อธรรมชาติได้ดีกว่าสายพันธุ์เดิม ดังนั้น จึงสามารถติดกันได้ง่ายกว่าเดิม แต่รุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้า

อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน – XBB

    ไอ เจ็บคอ
    มีไข้
    คัดจมูก หรือมีน้ำมูก
    อ่อนเพลีย รู้สึกหนาวสั่น
    คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย

 
สายพันธุ์เดลตาครอน

โควิด19สายพันธุ์ “เดลต้าครอน XBC” คือ ลูกผสมระหว่างเดลต้าและโอมิครอน BA.2 พบระบาดในฟิลิปปินส์ จากการถอดรหัสพันธุ์กรรมทั้งจีโนมพบว่ามีศักยภาพในการโจมตีปอดคล้ายกับเดลตา และอาจแพร่ระบาดได้รวดเร็วเหมือนโอมิครอน เนื่องจากมีการกลายพันธุ์ต่างไปจากโควิด19 สายพันธุ์ดั้งเดิมอย่างอู่ฮั่นมากที่สุดถึงกว่า 130 ตำแหน่ง พบระบาดแล้วในหลายประเทศในอาเซียน สำหรับผู้ป่วยรายแรกในไทยเป็นหญิงไทย อายุ 47 ปี ที่ได้รับวัคซีนแล้วรวม 3 เข็ม ทั้งนี้ยังไม่พบสัญญาณความรุนแรงของเชื้อที่กลายพันธุ์ แต่อาจจะทำให้มีการแพร่และติดเชื้อง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามสามารถทำให้ติดเชื้อซ้ำได้แม้ในผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อน

อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์เดลต้าครอน

    น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ
    อ่อนเพลีย
    สูญเสียการรับรสและกลิ่น



สายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) – CH.1.1

สำหรับโควิด CH.1.1 ตัวใหม่ที่พบกลายพันธุ์เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ย่อยของ BA.2.75 (BA.2.75 + R346T, K444T, L452R และ F486S) มีความสามารถสูงในการหลบภูมิคุ้มกันได้พอสมควร แต่การระบาด การแพร่กระจายไม่รวดเร็ว พบรายงานครั้งแรกในประเทศอินเดียเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 และแพร่กระจายไปทั่วโลกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา โดยพบมากที่สุดในสหราชอาณาจักร เดนมาร์ก และสิงคโปร์ โดยสายพันธุ์ CH.1.1 มีการกลายพันธุ์บริเวณส่วนหนามที่สำคัญ คือ K444T, L452R, N460K และ F486V ซึ่งทำให้หลบภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อตามธรรมชาติและจากการฉีดวัคซีนได้ดี มีคุณสมบัติดื้อต่อแอนติบอดีสังเคราะห์อย่างเอวูเชลด์ (Evusheld) และ เบบเทโลวิแมบ (Bebtelovimab) สำหรับประเทศไทย พบรายงานครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 และมีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมประมาณ 200-300 ราย

อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน – CH.1.1

    เจ็บคอ คอแห้ง คันคอ
    มีไข้ต่ำ
    น้ำมูกไหล
    จาม
    อ่อนเพลีย
    ปวดศีรษะ

 
สายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) – XBB.1.5

โควิด-19 สายพันธุ์ XBB.1.5 คือ โควิดสายพันธุ์ใหม่ที่มีการคาดการณ์ว่าจะระบาดในปี 2566 โดยต้นตระกูลของ XBB.1.5 คือ โอมิครอน BA.2 โดยเป็นสายพันธุ์ลูกผสมระหว่างโอมิครอน 2 สายพันธุ์ คือ BJ.1 และ BM.1.1.1 โดยโควิดสายพันธุ์ XBB.1.5 นี้มีอัตราการแพร่ระบาดรวดเร็วมาก และเป็นสายพันธุ์ที่หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุดสายพันธุ์หนึ่งในปัจจุบัน เนื่องจากสามารถจับยึดกับผิวเซลล์บริเวณโปรตีน ACE-2 ของผู้ติดเชื้อได้แน่นที่สุดสายพันธุ์หนึ่ง ทำให้เป็นสายพันธุ์ที่แทรกรุกรานเข้าสู่เซลล์และแพร่ระบาดได้ดี รวมถึงสามารถหลบเลี่ยงต่อภูมิคุ้มกันแบบผสมทั้งจากการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อตามธรรมชาติได้ดีกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมอย่างอู่ฮั่นมากถึง 104 เท่า ทำให้ติดซ้ำได้ง่ายขึ้น โดยพบว่าเริ่มระบาดในไทยเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา และจากถอดรหัสพันธุกรรมเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก (GISAID) ผ่าน Outbreak.info ร่วมกับองค์การอนามัยโลกพบว่า XBB.1.5 สายพันธุ์หลักในประเทศไทยที่ต้องเฝ้าระวัง

อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน – XBB.1.5

    ไอ เจ็บคอ
    มีไข้
    คัดจมูก หรือมีน้ำมูก
    อ่อนเพลีย รู้สึกหนาวสั่น
    คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย


สายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) – XBB.1.16

สำหรับโควิดสายพันธุ์ใหม่ล่าสุดที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ ได้แก่ โควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 หรือ “โควิดอาร์คทูรัส” (Arcturus) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ลูกผสมระหว่างโอมิครอน 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ BA.2.10.1 กับ BA.2.75 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่อยู่ในการสังเกตการณ์ขององค์การอนามัยโลก จุดเด่นของสายพันธุ์นี้ คือ แพร่ได้รวดเร็วและหลบรอดภูมิคุ้มกันได้ดีมากทั้งการติดเชื้อตามธรรมชาติและจากการฉีดวัคซีน เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงโปรตีนหนามบนผิวมากกว่าเดิม สามารถแพร่เชื้อเร็วขึ้นกว่าสายพันธุ์โอมิครอนเดิมถึง 2 เท่า แพร่กระจายได้เร็วกว่า XBB.1.5 ประมาณ 1.2 เท่า  แต่ยังไม่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเรื่องความรุนแรงของอาการจากเดิม  มีรายงานการค้นพบครั้งแรกที่ประเทศอินเดียเมื่อเดือนมกราคม 2566 ส่วนในไทยพบผู้ป่วยสายพันธุ์นี้แล้วจำนวนหนึ่ง รวมถึงมีผู้เสียชีวิตแล้วบางส่วน และคาดว่าจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักในไทยเช่นเดียวกับทั่วโลกในอีกไม่นานนี้

อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน – XBB.1.16

    มีไข้สูง
    คัดจมูก ไอ
    ผื่นคัน
    ปวดศีรษะ ปวดตามร่างกาย
    จมูกไม่ได้กลิ่น อาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วย
    เยื่อบุตาอักเสบ คล้ายตาแดง คันตา ขี้ตาเหนียว ลืมเปลือกตาไม่ขึ้น



ศูนย์ข้อมูลโควิด-19: อัปเดต ‘สายพันธุ์โควิด-19’ ในไทย พร้อมเช็คอาการเบื้องต้น อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/covid-19