ผู้เขียน หัวข้อ: โรคมะเร็งสมอง (Brain Cancer)  (อ่าน 14 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 599
  • ผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรม โพสฟรี
    • ดูรายละเอียด
โรคมะเร็งสมอง (Brain Cancer)
« เมื่อ: วันที่ 18 พฤศจิกายน 2024, 16:26:55 น. »
โรคมะเร็งสมอง (Brain Cancer)

มะเร็งสมอง (Brain Cancer) คือโรคที่เกิดจากเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายบริเวณสมอง สามารถเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจเกิดขึ้นเองที่เนื้อเยื่อสมองหรือจากการลุกลามของมะเร็งจากอวัยวะอื่น ทำให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ปัญหาด้านการทรงตัว ความคิด การพูด และการมองเห็น เซลล์มะเร็งอาจลุกลามได้อย่างรวดเร็วและอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคมะเร็งสมอง แต่ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การสัมผัสสารเคมี การสูบบุหรี่ หรือประวัติการเป็นมะเร็งของสมาชิกในครอบครัว อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งสมองได้ การรักษามะเร็งสมองจะขึ้นอยู่กับประเภทและความรุนแรงของอาการ โดยมีเป้าหมายเพื่อชะลอการเติบโตของเซลล์มะเร็ง และป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็งใหม่ เช่น เคมีบำบัด การฉายแสง และการผ่าตัดนำมะเร็งออก


อาการของมะเร็งสมอง

อาการของโรคมะเร็งสมองจะขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งที่พบของเนื้องอก โดยทั่วไปแล้วผู้ที่เป็นโรคมะเร็งสมองอาจมีอาการดังต่อไปนี้

    ปวดศีรษะ โดยจะมีอาการรุนแรงในตอนเช้า ขณะไอหรือกิจกรรมอื่นที่ทำให้เกิดการเกร็งศีรษะ
    คลื่นไส้ อาเจียน
    ชาและอ่อนแรงบริเวณแขนและขา มีปัญหาการทรงตัว หรือเดินลำบาก
    กล้ามเนื้อกระตุก
    มีปัญหาทางความคิด สติปัญญา อารมณ์ หรือสูญเสียความทรงจำ
    มีปัญหาในการพูด และการมองเห็น
    มีปัญหาบุคลิกภาพที่เปลี่ยนแปลงไป
    เซื่องซึม
    ชัก
    เป็นลมหมดสติ

อาการที่พบอาจมีสาเหตุหรือเป็นผลข้างเคียงมาจากความผิดปกติอื่นที่ไม่ใช่มะเร็งสมองก็ได้ แต่หากอาการเหล่านี้ไม่หายไป ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีอาการอาเจียนบ่อยโดยไม่ทราบสาเหตุ มองเห็นภาพซ้อน มองไม่ชัด โดยเฉพาะที่ตาข้างใดข้างหนึ่ง ง่วงซึม หรือง่วงนอนอย่างผิดปกติ และปวดศีรษะอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน


สาเหตุของมะเร็งสมอง

มะเร็งสมองเป็นเนื้องอกอันตรายที่มีการเจริญเติบโตของเซลล์ในลักษณะที่ผิดปกติ หรือที่เรียกว่า เซลล์มะเร็ง (Malignant Brain Tumors) โดยอาศัยเลือดและสารอาหารจากร่างกายไปหล่อเลี้ยง เซลล์มะเร็งอาจเกิดขึ้นที่บริเวณสมองเอง (Primary Brain Tumors) หรือเกิดจากมะเร็งที่ลุกลามหรือกระจายมาจากอวัยวะอื่น (Secondary/Metastic Brain Tumors) เช่น ปอด เต้านม ไต ลำไส้ใหญ่ หรือผิวหนัง

เนื้องอกที่มีเซลล์มะเร็งจะเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว สามารถแพร่กระจายและทำลายเนื้อเยื่อดีในบริเวณรอบข้าง มีโอกาสกลับมาเป็นได้อีกถึงแม้เคยผ่านการรักษามาแล้ว และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถบอกได้อย่างแน่ชัดว่ามะเร็งสมองเกิดจากสาเหตุใด มีเพียงปัจจัยต่าง ๆ ที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งสมองได้ เช่น

    อายุที่เพิ่มมากขึ้น
    พฤติกรรมการสูบบุหรี่เป็นเวลานาน
    มีประวัติการเกิดโรคมะเร็งสมองกับสมาชิกในครอบครัว
    เป็นโรคมะเร็งในส่วนอื่น ๆ ของร่างกายที่สามารถแพร่กระจายมายังสมองได้ เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งไต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ รวมถึงมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา (Melanoma)
    การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV)
    การสัมผัสสารกัมมันตภาพรังสี สารเคมี รวมถึงยากำจัดศัตรูพืชที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง
    การทำงานเกี่ยวกับสิ่งที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เช่น พลาสติก ตะกั่ว ยาง น้ำมัน รวมถึงสิ่งทอบางชนิด


การวินิจฉัยมะเร็งสมอง

สามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งสมองได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย โดยแพทย์จะมีแนวทางการวินิจฉัยดังต่อไปนี้
การทดสอบทางระบบประสาท (Neurological Examination)

การทดสอบทางระบบประสาทไม่ใช่การตรวจหาก้อนเนื้อร้ายโดยตรง แต่เป็นการตรวจสมองส่วนต่าง ๆ เพื่อดูการทำงานของสมอง โดยจะทดสอบการมองเห็น การได้ยิน ความสามารถในการทรงตัว ความแข็งแรงและการตอบสนองของร่างกาย ซึ่งช่วยให้แพทย์ทราบว่าสมองส่วนใดองผู้ป่วยที่เกิดผลกระทบจากเนื้อร้าย


การตรวจโดยใช้ภาพ (Imaging Test)

การตรวจมะเร็งสมองโดยใช้ภาพ เช่น

    การตรวจบริเวณศีรษะด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) มักเป็นวิธีตรวจแรกที่นิยมใช้เมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะหรืออาการอื่นที่เข้าข่ายมะเร็งสมอง ช่วยให้แพทย์เห็นความผิดปกติในสมองและบริเวณใกล้เคียง
    การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หากตรวจซีที สแกนแล้วพบว่าผู้ป่วยมีก้อนเนื้ออยู่ในสมองแพทย์อาจให้ตรวจเอ็มอาร์ไอ เพื่อให้ได้ภาพที่ชัดเจนขึ้น
    การตรวจความเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี (PET Scan) เพื่อหาตำแหน่งของเนื้อร้าย โดยการฉีดสารกัมมันตรังสีเข้าหลอดเลือดดำ เพื่อให้เครื่องสแกนสามาถแสดงภาพความผิดปกติที่เกิดขึ้นในเซลล์ของผู้ป่วยได้


การตัดชิ้นเนื้อตรวจ (Biopsy)

การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจยังห้องปฎิบัติการสามารถทำได้ด้วยกัน 2 วิธีคือ

    การผ่าตัดเปิดกะโหลก (Craniotomy) เป็นการผ่าตัดแบบดั้งเดิมที่แพทย์จะผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะผู้ป่วย และตัดชิ้นเนื้อที่ผิดปกติ เพื่อนำส่งตรวจยังห้องปฏิบัติการ

    การเก็บชิ้นเนื้อไปตรวจด้วยระบบนำวิถี (Stereotaxis) แพทย์จะใช้ภาพจากการทำซีทีสแกน หรือเอ็มอาร์ไอเป็นตัวบอกตำแหน่งที่ชัดเจน จากนั้นทำการเจาะรูเล็กที่กะโหลกแล้วใช้เข็มสอดเข้าไปเก็บตัวอย่างเนื้องอก แล้วส่งให้นักพยาธิวิทยาตรวจสอบหาเซลล์มะเร็งต่อไป

นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้การทดสอบอื่น ๆ ตรวจหาเซลล์มะเร็ง เช่น การเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar Puncture) การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) และการตรวจต่อมไร้ท่อเพื่อดูการทำงานของฮอร์โมน


การรักษามะเร็งสมอง

การรักษาโรคมะเร็งสมองของผู้ป่วยแต่ละคนอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภท ขนาด และตำแหน่งของเนื้อร้าย รวมไปถึงอายุและปัญหาหรือปัจจัยอื่น ๆ ของผู้ป่วย โดยวิธีการรักษามีดังนี้


การผ่าตัด

การผ่าตัดสมองเป็นวิธีรักษาหลักที่ใช้กำจัดเนื้องอกที่อาจเป็นสาเหตุของการเกิดเซลล์มะเร็ง โดยวิธีผ่าตัดที่นิยมใช้รักษามะเร็งสมองคือการเปิดกะโหลกศีรษะ เพื่อนำชิ้นเนื้อมะเร็งออกทั้งหมดหรือบางส่วน


การรักษาด้วยรังสี (Radiation Therapy)

การฉายแสงที่มีพลังงานสูงเพื่อทำลาย ลดการขยายตัว และหยุดการเจริญเติบโตของเนื้อร้ายจะใช้ในผู้ที่ไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดได้ เช่น เนื้อร้ายอยู่ในตำแหน่งที่ยากต่อการผ่าตัด หรือใช้หลังการผ่าตัดที่ยังคงหลงเหลือเซลล์มะเร็งอยู่ การรักษาด้วยรังสีสามารถทำได้ด้วยกันหลายวิธี เช่น

    External Radiation คือการฉายรังสีที่มีพลังงานสูงผ่านชั้นผิวหนัง กะโหลก เซลล์สมอง ไปยังตำแหน่งของเนื้อร้าย โดยจะทำประมาณ 5 ครั้งต่อสัปดาห์ ใช้เวลาไม่นานต่อหนึ่งครั้ง
    Stereotactic Radiosurgery คือการทำลายเนื้อร้ายโดยการใช้รังสีที่มีพลังงานสูงจากหลายทิศทางด้วยความแม่นยำ โดยทำหลังจากมีการระบุตำแหน่งที่ชัดเจน ซึ่งทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและใช้เวลาในการพักฟื้นน้อยกว่า


การทำเคมีบำบัด (Chemotherapy)

เคมีบำบัดหรือที่เรียกว่าการทำคีโม คือการใช้ยาที่ออกฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งสมอง และช่วยให้ก้อนเนื้อมีขนาดเล็กลง โดยอาจเป็นยา 1 ชนิดหรืออาจใช้ยาร่วมกัน 2 ชนิดขึ้นไปในการรักษา สามารถให้ได้ทั้งทางเส้นเลือดหรือรับประทาน จะใช้ยาเป็นรอบ ๆ โดยจะเว้นระยะให้ผู้ป่วยได้พักฟื้น และดูการตอบสนองต่อการรักษา

การทำเคมีบำบัดสามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เป็นแผลในปาก เบื่ออาหาร ผมร่วง
การให้ยาอื่น ๆ

แพทย์อาจให้ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ที่ออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของภูมิคุ้มกันในการกำจัดเซลล์มะเร็ง และการรักษาแบบมุ่งเป้า (Target Therapy) ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์เจาะจงไปยังเซลล์มะเร็ง ช่วยลดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง และทำให้เซลล์มะเร็งยุบลง

นอกจากนี้ แพทย์อาจให้ยาอื่น ๆ ที่ช่วยบรรเทาอาการและผลข้างเคียงที่เกิดจากเซลล์มะเร็งหรือเกิดจากกระบวนการรักษาสมอง ได้แก่ ยากลุ่มสเตียรอยด์ เช่น เดกซาเมทาโซน (Dexamethasone) เพื่อลดอาการบวมของสมอง หรือยากันชักในผู้ป่วยบางราย

การบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย

ผู้ป่วยบางรายอาจมีความจำเป็นต้องฟื้นฟูร่างกายหลังเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งสมอง เนื่องจากสมองอาจได้รับผลกระทบหรือเกิดความเสียหายจากเซลล์มะเร็ง ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การพูด การเดิน หรือการปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ จึงจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการฟื้นฟู เช่น กายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด และการบำบัดการพูด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์ และรับประทานอาหารเสริม เพื่อชดเชยสารอาหารที่สูญเสียไปในระหว่างการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์
ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งสมอง

ภาวะแทรกซ้อนของโรคมะเร็งสมองสามารถเกิดขึ้นได้ตัวโรคมะเร็งเอง เช่น

    กลืนลำบาก (Dysphagia) น้ำหนักลด
    ปวดกะโหลกศีรษะ ซี่โครง และหลัง
    มีอาการบวมผิดปกติ ใบหน้าและศีรษะผิดรูป
    การเคลื่อนไหวผิดปกติ
    ชัก
    เนื้องอกมีเลือดออกเฉียบพลัน
    เกิดภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง เนื่องจากการสะสมของน้ำหรือน้ำไขสันหลังในกะโหลก ทำให้เกิดการกดทับสมองและทำลายเนื้อสมอง และอาจทำให้เสียชีวิตได้
    ความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้นกะทันหันจากการเคลื่อนของสมอง อาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต
    ภาวะซึมเศร้า และอาการผิดปกติด้านอารมณ์

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจพบผลข้างเคียงจากการรักษา เช่น การทำคีโมอาจทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง การฉายรังสีอาจทำให้อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ หนังศีรษะระคายเคือง และการผ่าตัดอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ มีเลือดออกหรือลิ่มเลือด และเกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อสมองบริเวณใกล้เคียงได้


การป้องกันมะเร็งสมอง

ในปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งสมองได้โดยตรง แต่การปรับพฤติกรรม โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งสมอง อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งสมองได้ เช่น

    ป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อเอชไอวี โดยการสวมถุงยางอนามัย ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย และตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ
    หลีกสัมผัสสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เช่น ยาฆ่าแมลง สารเคมี สารกัมมันตภาพรังสี และการฉายแสง
    ลดพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เช่น หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
    รับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ผักโขม และถั่วต่าง ๆ
    นอนพักผ่อนให้เพียงพอ และทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด

หากพบว่าตนเองมีอาการผิดปกติที่เป็นสัญญาณของมะเร็งสมอง รวมถึงผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นเนื้องอกในสมอง หรือโรคทางพันธุกรรมใด ๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งสมอง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจคัดกรอง แม้จะไม่ได้ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งสมองโดยตรง แต่หากตรวจพบเซลล์มะเร็งแต่เนิ่น ๆ ขณะที่เซลล์ยังมีขนาดเล็กและยังไม่ลุกลาม อาจทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น