“บ้าน” คำสั้นๆเพียงคำเดียวแต่เต็มไปด้วยไปด้วยส่วนผสมของความรู้สึกที่อบอุ่น เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญต่อทั้งร่างกายและจิตใจ จึงไม่แปลกหากความฝันของใครหลายๆคนคืออยากมีบ้านที่สวยงามถูกใจตามที่ตนเองต้องการ แต่ก่อนที่มีบ้านที่ตรงตามความต้องการนั้น จะต้องผ่านขั้นตอนการออกแบบบ้านที่ตรงตามโจทย์ของผู้อยู่อาศัยที่วางไว้เสียก่อน ซึ่งขั้นตอนต่างๆเหล่านั้นมีอะไรบ้าง และมีความสำคัญอย่างไร เราลองมาเรียนรู้ไปพร้อมๆกันเลย
1. ศึกษาความต้องการ
ขั้นตอนการออกแบบบ้านในขั้นแรกสถาปนิกจะต้องเริ่มศึกษาและรวบรวมข้อมูลของผู้อยู่อาศัยในขั้นปฐมภูมิก่อน เริ่มจากออกแบบบ้านให้ใคร? ผู้อยู่อาศัยมีอาชีพอะไร? จำนวนผู้อยู่อาศัยกี่คน? มีผู้สูงอายุหรือทารกไหม? มีสัตว์เลี้ยงไหม? จากนั้นเราจะลงรายละเอียดในส่วนของความต้องการส่วนตัวของผู้อยู่อาศัยว่า ความต้องการออกแบบบ้านในรูปแบบไหน? ฟังก์ชันอะไรที่ต้องการเป็นพิเศษ เป็นต้น
การรวบรวมข้อมูลต่างๆเหล่านี้ ก็เพื่อให้เราได้ทราบถึงวิถีชีวิตประจำวันของผู้อยู่อาศัยและช่วงเวลาที่ใช้ชีวิตภายในบ้าน ซึ่งส่งผลต่อการออกแบบบ้านให้ออกมาสมบูรณ์และตรงตามโจทย์กับผู้อยู่อาศัยมากที่สุด
2. จากความต้องการสู่พื้นที่
ขั้นต่อมาสถาปนิกจะมีหน้าที่แปลงความต้องการของเจ้าของบ้านทั้งหมด ออกมาเป็น “พื้นที่” โดยค่อยๆจัดสรรและแบ่งสัดส่วนจากพื้นที่ที่ดินทั้งหมดที่มี ซึ่งบ้านแต่ละหลังจะมีการจัดการขนาดของพื้นที่ที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตของผู้อยู่อาศัย ทั้งนี้ปัจจัยต่างๆจะขึ้นอยู่กับข้อมูลที่เราได้รวบรวมและวิเคราะห์มาจากผู้อยู่อาศัยในตอนเริ่มต้น หลังจากนั้นพอสถาปนิกกำหนดขอบเขตพื้นที่ต่างๆภายในบ้านได้แล้ว สถาปนิกก็จะเริ่มต้นในขั้นตอนการออกแบบจัดวางฟังก์ชันต่างๆภายในและภายนอก ฟังก์ชันไหนควรอยู่ติดกัน มีส่วนเชื่อมต่อกันอย่างไรบ้าง และการใช้งานแต่ละส่วนเป็นแบบไหน รวมไปถึงออกแบบพื้นที่ภายในและภายนอกโดยจะอ้างอิงจากหลักในการออกแบบเชิงสถาปัตยกรรม ทิศทาง สภาพแวดล้อม สภาพอากาศ ผนวกเข้ากับความต้องการของผู้อยู่อาศัย เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยได้ฟังก์ชันที่ตรงตามความต้องการ ใช้งานได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ
3. แบบร่างบ้านครั้งแรก
สำหรับมือใหม่สร้างบ้านที่ใช้บริการสถาปนิก คงตื่นเต้นไม่มากก็น้อยที่จะได้เห็นแบบร่างบ้านครั้งแรก หลังจากที่ได้มีการพูดคุยถึงความต้องการและข้อมูลสำคัญสำหรับการออกแบบบ้าน
ซึ่งแบบร่างบ้านครั้งแรก เจ้าของบ้านเองจะเริ่มเห็นรูปทรงบ้าน แปลน หรือแนวคิดอะไรบางอย่างจากสิ่งที่สถาปนิกออกแบบ โดยผ่านการผสมผสานความคิดสร้างสรรค์ที่ทำให้เกิดแบบร่างตัวต้นแบบขึ้นมา เพื่อพูดคุยกันระหว่างสถาปนิกและเจ้าของบ้าน และหากถูกใจก็มีโอกาสพัฒนาไปสู่แบบร่างต่อๆไป ซึ่งในการพบปะแต่ละครั้ง อาจจะมีสิ่งเพิ่มเติมหรือปรับเปลี่ยนความต้องการบางอย่างบ้าง เจ้าของบ้านจะได้รับคำแนะนำจากสถาปนิกโดยตรง เสมือนมีผู้ช่วยทำให้บ้านใกล้ความเป็นจริงเข้าไปอีกหนึ่งขั้น
4. วัสดุ
หากเมื่อพัฒนาแบบกันไปสักระยะหนึ่ง ตามจำนวนครั้งที่ได้ตกลงกันแล้ว ก็จะนำไปสู่ขั้นตอนการลงดีเทลเรื่องของวัสดุในส่วนต่างๆของบ้าน เช่น พื้น ผนัง ฝ้า และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งการเลือกวัสดุนั้นเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่สำคัญอย่างมาก เพราะเป็นสิ่งที่สถาปนิกต้องคำนึงถึงในแง่ของความสวยงาม สไตล์ที่เจ้าของบ้านชอบ ความปลอดภัย คุณภาพในการใช้งาน รวมไปถึงการควบคุมราคาให้อยู่ภายใต้งบที่เจ้าของบ้านกำหนดไว้ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่มีผลต่อลูกค้าโดยตรง เพราะเป็นผู้ที่อยู่อาศัยและเป็นผู้ใช้เวลาอยู่กับบ้านหลังนี้มากที่สุด
ส่วนเกณฑ์การเลือกวัสดุนั้น นอกจากจะคำนึกถึงความพึงพอใจเจ้าของบ้านแล้ว จะต้องคำนึงความปลอดภัยในการก่อสร้าง, ศักยภาพของผู้รับเหมา, วิธีการก่อสร้างและการติดตั้งพื้นที่ในการเก็บรักษาวัสดุ อีกทั้งหากเป็นวัสดุที่แปลกใหม่ สถาปนิกควรมีการศึกษาวัสดุและให้คำแนะนำกับเจ้าของบ้าน ให้เข้าใจถึงข้อดีและข้อเสียในการเลือกใช้วัสดุนั้นๆด้วย
5. 3D โมเดลและโมเดลภาพสามมิติ
ในปัจจุบันไม่ค่อยนิยมการตัดโมเดลแล้ว เนื่องจากใช้เวลานานและไม่สะดวกต่อการนำไปเสนอต่อเจ้าของบ้าน จึงนิยมทำภาพเสมือนสามมิติ หรือที่เรียกว่า ‘ภาพ3D Render’ ในการนำเสนอแทน ซึ่งสามารถปริ้นเอาท์ออกมาให้เจ้าของบ้านดู สามารถเข้าใจภาพรวมได้ง่ายเพราะเป็นภาพเสมือนของจริง สเกลและองค์ประกอบภาพคล้ายกับของจริง และสามารถปรับแก้แบบได้ง่ายกว่าการตัดโมเดล โดยภาพสามมิติแบ่งออกเป็นภาพภายนอกที่เรียกว่า Exterior และภาพภายในที่เรียกว่า Interior ส่วนใหญ่สถาปนิกจะเลือกทำเพียงพื้นที่ที่เป็นมุมมองหลักๆของบ้าน และพื้นที่ตามการใช้งานหลักที่ผู้อยู่อาศัยเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น อย่างเช่น ห้องนั่งเล่น ห้องนอน มุมสวน และอื่นๆ แตกต่างกันไปตามแนวคิดและพื้นที่พิเศษที่เจ้าของบ้านต้องการตั้งแต่แรก
6. ก่อร่างสร้างบ้าน
ในขั้นตอนสุดท้ายนี้จะเป็นการทำแบบก่อสร้าง ซึ่งถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด และส่วนใหญ่ใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของการออกแบบ ภายใต้แบบก่อสร้างที่ถูกเขียนขึ้นมา โดยสิ่งที่สถาปนิกออกแบบต้องบนพื้นฐานของความเป็นจริง บ้านที่ออกแบบต้องสร้างได้จริง โดยในส่วนนี้สถาปนิกต้องทำงานร่วมกับวิศวกรและผู้รับเหมา ซึ่งแบบก่อสร้างมักประกอบไปด้วยแปลน รูปด้าน รูปตัด แบบขยายดีเทลต่างๆ และการที่สถาปนิกเขียนแบบก่อสร้างละเอียดและสามารถเข้าใจได้ง่ายก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้รับเหมา ที่สามารถเข้าใจในแบบทำการก่อสร้างให้ถูกต้องตรงกับแบบที่สถาปนิกได้ออกแบบไว้ อีกทั้งสถาปนิกจะมีหน้าที่คอยเข้าควบคุมและตรวจเช็คผลงานการก่อสร้างให้ตรงตามแบบอยู่เสมอด้วย
ขั้นตอนในการออกแบบที่กล่าวมาอาจจะทำให้ทุกคนความเข้าใจในงานออกแบบ และบทบาทหน้าที่ของสถาปนิกมากขึ้นไม่มากก็น้อย กว่าจะเป็นบ้านหนึ่งหลังไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแต่ละขั้นตอนนั้นถูกทำโดยผ่านกระบวนการทางความที่คิดอย่างละเอียด และต้องอาศัยความร่วมมือกันหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของบ้าน สถาปนิก วิศวกร และผู้รับเหมา เพื่อให้เจ้าของบ้านได้บ้านที่ตรงใจตามความต้องการอย่างสมบูรณ์แบบที่สุด
รับออกแบบบ้าน: ขั้นตอนการออกแบบบ้านตั้งแต่ต้นจนจบ อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://luxuryhomesdesigns.com/