ผู้เขียน หัวข้อ: ดูแลสุขภาพ: ผ่าตัดหัวใจ การตัดสินใจที่คุ้มค่า เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า  (อ่าน 531 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 605
  • ผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรม โพสฟรี
    • ดูรายละเอียด
ผ่าตัดหัวใจ แค่ชื่อก็เรื่องใหญ่ จริงหรือ…

วินาทีที่แพทย์ลงความเห็นว่า ต้อง 'ผ่าตัดหัวใจ' กลายเป็นหนึ่งในสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลกับคนไข้อยู่ไม่น้อย ความเจ็บป่วยดูกลายเป็นเรื่องเล็ก เมื่อคนไข้กลัวการรักษามากกว่า พอรู้ว่าต้องผ่าตัดหัวใจ หลายรายพยายามหลีกเลี่ยง ร้องขอ หรือปฏิเสธการรักษาเลยก็มี เพียงเพราะกลัวว่าผลลัพธ์จะแลกมาด้วยชีวิต

แล้วในความเป็นจริง การผ่าตัดหัวใจน่ากลัวขนาดนั้นหรือ… นพ.บุลวัชร์ หอมวิเศษ ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคหัวใจและทรวงอก มาให้ข้อมูลที่น่าสนใจในอีกแง่มุมหนึ่ง ที่การผ่าตัดหัวใจในปัจจุบันมีประสิทธิภาพขึ้น และคืนคุณภาพชีวิตที่ดีแก่คนไข้ได้อย่างไร ความเสี่ยงที่หลายคนกังวล อาจไม่ใช่เรื่องที่ควรกังวลขนาดนั้นอีกต่อไปแล้ว  

“การผ่าตัดหัวใจ ส่วนใหญ่จะใช้กับกลุ่มโรคหัวใจ 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ที่เกิดจากภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง และมีไขมันอุดตันในเส้นเลือด โดยปกติจะรักษาด้วยการทำบอลลูน แต่หากเป็นมาก เช่น มีการตีบหรือตันของเส้นเลือดหลายเส้น หรือรอยโรคที่ตีบไม่สามารถทำบอลลูนได้ ก็จะเลือกใช้การผ่าตัดที่เรียกว่าการผ่าตัดทำบายพาส ”

“กลุ่มที่สอง คือ โรคลิ้นหัวใจ คือ ลิ้นหัวใจตีบหรือ ลิ้นหัวใจรั่ว ถ้าเป็นรุนแรงมากและผู้ป่วยเริ่มมีอาการ ก็มักจะจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดซ่อมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจ”


ผ่าตัดหัวใจ ทำไมใคร ๆ ก็กังวล

“ผ่าตัดแล้วจะเสียชีวิตไหม จะตื่นขึ้นมาไหม และจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม ใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนเดิมไหม ทั้งหมดนี้เป็นคำถามที่เจอบ่อยมากครับ”

การผ่าตัดหัวใจในมุมมองของทุกคน ดูเป็นเรื่องใหญ่ เพราะหัวใจเป็นอวัยวะที่มีความละเอียดซับซ้อน และเชื่อมโยงกับการมีชีวิตของคนไข้ แม้ใคร ๆ จะทราบกันดีว่าในปัจจุบัน เทคโนโลยีทางการแพทย์พัฒนาขึ้น แต่ก็อดกังวลไม่ได้ ทำให้เป็นหน้าที่ของแพทย์และทีมบุคลากรที่เกี่ยวข้องที่จะต้องทำความเข้าใจ และให้ข้อมูลที่ชัดเจนและเป็นประโยชน์ที่สุดกับคนไข้  

“คนไข้ทุกคนล้วนอยากหาย ญาติคนไข้ก็อยากให้คนที่เขารักหาย ทุกคนอยากกลับไปใช้ชีวิตได้เป็นปกติเหมือนเดิม อายุยืนเหมือนเดิม ซึ่งตรงกับจุดประสงค์ของหมอเช่นกัน เพราะหมอตั้งประโยชน์ของการผ่าตัดไว้สองอย่าง คือ หนึ่ง ผ่าตัดแล้วอายุยืนขึ้น เพราะถ้าไม่ผ่าตัด โรคอาจทำให้เสียชีวิตเร็วขึ้น และสอง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ใช้ชีวิตต่อได้อย่างมีความสุข” 
  
ในแง่ของความเสี่ยงตามข้อเท็จจริง ปกติแล้วทางการแพทย์จะแบ่งกลุ่มที่มีความเสี่ยงจากการผ่าตัดไว้ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มความเสี่ยงต่ำ กลุ่มความเสี่ยงปานกลาง และกลุ่มความเสี่ยงสูง ซึ่งความเสี่ยงจะส่งผลได้ 2 ประการ ได้แก่

-    เสียชีวิต
-    ภาวะแทรกซ้อน

“กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงคือกลุ่มที่เป็นมากจริง ๆ เช่น ต้องได้รับการผ่าตัดฉุกเฉิน ไม่สามารถรอได้ หัวใจหยุดเต้น อาการรุนแรงมากจนเกิดภาวะช็อก อยู่ในระยะสุดท้ายของโรค มีโรคแทรกซ้อนที่คุมไม่ได้ หรืออายุมาก ๆ แต่ส่วนมากคนทั่ว ๆ ไปที่มาหาหมอประมาณ 80% คือกลุ่มความเสี่ยงต่ำ ที่โดยปกติโอกาสเสียชีวิตจากการผ่าตัดมีเพียง 1-2% เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก และน่ากังวลน้อยกว่าที่คนไข้คิดครับ”  
  
ถัดมาคือ ภาวะแทรกซ้อน โดยโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น หลังผ่าตัดแล้วไม่ตื่น ภาวะแทรกซ้อนทางสมอง มีเลือดออกรุนแรงหลังผ่าตัด ต้องผ่าตัดซ้ำ ภาวะไตวาย ภาวะติดเชื้อรุนแรง ทั้งหมดนี้ถ้ารุนแรงมากก็อาจทำให้เสียชีวิต แต่ถ้าไม่รุนแรงมากก็อาจทำให้นอนโรงพยาบาลนานขึ้น ซึ่งโดยรวมจะมีโอกาสเกิดขึ้นไม่เกิน 5% เท่านั้นในกลุ่มความเสี่ยงต่ำ

“หากคนไข้มีร่างกายแข็งแรงดี ไม่ได้มีโรคประจำตัวอะไร หรือถ้ามีแต่ควบคุมอาการและภาวะของโรคได้ดี ก็มักจะจัดอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงต่ำ ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต และโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่ำครับ” 


ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางการแพทย์นั้นเป็นประโยชน์ในหลายด้าน ทั้งด้านเทคโนโลยี เครื่องมือทางการแพทย์ที่พัฒนาขึ้นทั้งหมด ยกตัวอย่างในกรณีการผ่าตัดหัวใจ จำเป็นต้องหยุดการเต้นของหัวใจ แล้วต้องใช้เครื่องมือที่เรียกว่า หัวใจและปอดเทียม หรือ Cardiopulmonary bypass (CPB) เพื่อใช้ในการทำงานแทนหัวใจและปอดของคนไข้ระหว่างผ่าตัด ซึ่งพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด   

ถัดมาคือองค์ความรู้และความชำนาญการของแพทย์เอง เพราะสามารถเข้าถึงข้อมูลและความรู้เชิงลึกได้ง่ายขึ้น แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ได้ง่ายขึ้น จึงทำให้การรักษาและการผ่าตัดพัฒนา และเกิดเป็นวิธีการรักษาที่จะก่อประโยชน์สูงสุดได้ ซึ่งทำให้การรักษาด้วยการผ่าตัดได้ผลดีเพียงพอ ต่อมาแวดวงการแพทย์ก็ต้องพยายามคิดวิธีที่จะทำให้ได้ผลดีกว่าเดิม ซึ่งก็เกิดเป็นวิธีผ่าตัดหัวใจแผลเล็ก (minimally invasive cardiac surgery : MICS) เป็นวิธีผ่าตัดที่สร้างแผลที่มีลักษณะเป็นรูเล็ก ๆ แต่ประสิทธิภาพในการรักษายังเหมือนเดิม ซึ่งต้องทำโดยศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญ ผ่านการฝึกฝน ประกอบกับเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ต้องจัดหามาโดยเฉพาะ วิธีนี้ช่วยลดความรุนแรงของแผลผ่าตัด ช่วยให้คนไข้ฟื้นตัวได้เร็ว กลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น   

แต่เนื่องจากวิธีการรักษาแบบ MICS นี้ทำได้ยาก จึงแนะนำให้ใช้ในการรักษาโรคที่ยังอยู่ในระยะต้น ๆ หรือรอยโรคที่มีความซับซ้อนไม่มาก หากเป็นเยอะแล้ว อาจต้องกลับไปสู่วิธีการรักษาตามมาตรฐานเดิม นั่นก็คือการผ่าตัดแผลปกติ  

“แม้จะเป็นวิธีที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีมีประสิทธิภาพ แต่ก็ใช่ว่าจะใช้รักษาได้ทุกอย่าง เพราะเราไม่สามารถรักษาสิ่งยาก ๆ ผ่านแผลเล็ก ๆ ได้ สิ่งที่ดีที่สุดคือการมาตรวจเช็กสุขภาพ เมื่อเจอความผิดปกติเสียแต่เนิ่น ๆ ตรวจเจอเร็ว อาจยังเป็นไม่เยอะ โอกาสที่จะใช้วิธีผ่าตัดแผลเล็กได้ก็จะเยอะ คนไข้ก็จะมีคุณภาพชีวิตระหว่างการรักษาและหลังการรักษาที่ดีกว่ามาตอนที่เป็นมากแล้วครับ”



หลังผ่าตัด คุณภาพชีวิตที่ได้คุ้มค่า

โดยปกติแล้ว หลังผ่าตัดหัวใจ คนไข้จะนอนอยู่ในห้องไอซียู 2 คืน ซึ่งเป็นช่วงเวลาวิกฤต เพื่อให้ทีมแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษมากกว่าการผ่าตัดปกติ ต้องคอยดูการทำงานของหัวใจ ความดันโลหิต

“การดูแลคนไข้หลังผ่าตัดหัวใจ จำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือที่เหมาะสม และมีห้องไอซียูหัวใจโดยเฉพาะ เพราะต้องใช้เครื่องตรวจวัดความดันแบบพิเศษ และประกอบไปด้วยบุคลากรเฉพาะทางที่ดูแลด้านหัวใจโดยตรง ซึ่งที่เมดพาร์คมีครบครับ ทั้งทีมผ่าตัด ทีมดูแลหลังผ่าตัดล้วนมีความชำนาญและมีประสบการณ์ในการดูแลคนไข้หัวใจทั้งสิ้นครับ”

“โดยปกติแล้ว ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงเกือบทั้งหมด จะเกิดขึ้นภายใน 2 วันแรกหลังผ่าตัด หากคนไข้ผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปได้ โอกาสรอดกลับบ้านสูง ซึ่งระหว่างที่อยู่ในไอซียู อาจมีสายระโยงระยาง อาทิ เครื่องช่วยหายใจ สายวัดค่าต่าง ๆ สายระบายของเหลวต่าง ๆ ทำให้คนไข้ไม่สบายตัว ซึ่งเราก็จะให้ยาที่จะช่วยแก้ปวด ช่วยให้สบายขึ้น ให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตไปอย่างราบรื่นที่สุด”

เมื่อเข้าสู่ระยะฟื้นฟู จะเป็นช่วงที่ใช้การทำกายภาพบำบัดเข้ามาช่วย แพทย์ด้านกายภาพบำบัดจะเข้ามามีส่วนร่วมในระยะนี้ ซึ่งต้องทำโดยแพทย์กายภาพบำบัดเฉพาะทางด้านหัวใจโดยเฉพาะ เพื่อที่จะสามารถวางแผนว่าสภาพของหัวใจคนไข้แต่ละบุคคล ควรทำกายภาพบำบัดอย่างไร เข้าใจถึงขีดจำกัดของคนไข้ หลังการผ่าตัดหัวใจและทรวงอก ควรใช้แรง ใช้ท่าบริหารแบบไหน ออกกำลังกายได้แค่ไหน เพื่อไม่ก่อให้เกิดอันตราย และให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดแก่คนไข้รายนั้น ๆ

ช่วงฟื้นฟูนี้ คนไข้จะใช้เวลากับกายภาพบำบัดประมาณ 5 วัน รวมเป็น 7 วัน หลังจากนี้หากไม่มีปัญหาอะไร คนไข้สามารถกลับบ้านไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ และอาจดีกว่าเดิม เนื่องจากการทำงานของหัวใจดีขึ้นกว่าก่อนจะผ่าตัดรักษา โดยจะแบ่งเป็นช่วงได้ดังนี้

-    ช่วง 1 เดือนหลังผ่าตัด : ควรมีคนดูแลคนไข้เพราะอาจยังเดินไม่คล่อง แต่จะค่อย ๆ ดีขึ้น และควรหยุดงานอยู่บ้านพักผ่อน และทำกายภาพบำบัดตามคำแนะนำ   
-    ช่วง 3 เดือนหลังผ่าตัด : คนไข้จะฟื้นฟูจนเป็นปกติ กระดูกที่ตัดไปต่อติดแล้ว และสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ

“หลังจากช่วง 3 เดือนหลังผ่าตัด ผมเรียกว่าเป็นช่วงที่การลงทุนได้กำไรกลับคืนมาแล้วครับ ความพยายามของทีมแพทย์ การให้ความร่วมมือของคนไข้ จะเกิดผลแล้ว คนไข้จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าตอนก่อนผ่าตัด จากที่เหนื่อยง่าย ทำนู่นทำนี่ไม่ได้ ก็กลับมาทำได้แล้ว ความผิดปกติที่รบกวนการใช้ชีวิตของเขาก็จะไม่มีแล้ว”

และที่สำคัญ คนไข้สามารถกลับไปออกกำลังกายที่ก่อนหน้าทำไม่ได้ ก็จะยิ่งทำให้สุขภาพโดยรวมของคนไข้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย สามารถกลับมาเป็นคนแข็งแรง สุขภาพดีได้เลย เพียงแต่คนไข้ต้องกลับมาติดตามอาการ ตรวจเช็ก รับยากินประจำ เพื่อให้คงประสิทธิภาพของหัวใจและร่างกาย ตามคำแนะนำของแพทย์ผู้ชำนาญการ


โรคหัวใจ ตรวจเสมอ เจอไว รักษาง่าย

หมอบุลวัชร์ให้ข้อมูลว่า อาการของโรคหัวใจที่สังเกตได้ส่วนใหญ่ คือ เหนื่อยง่าย ซึ่งบางครั้งคนไข้จะชะล่าใจ เพราะเมื่อยังเป็นไม่เยอะจะรู้สึกเพียงเหนื่อยง่ายเวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ แล้วคิดว่าคงเพราะอายุมากขึ้น หรือไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย แล้วก็ปล่อยไว้ จนวันหนึ่งอาการเหนื่อยนั้นแย่ลงถึงไปพบแพทย์

“ยิ่งในคนที่อายุเยอะ ๆ ที่ไม่ค่อยได้มีกิจกรรมหรือทำอะไร จะสังเกตอาการได้ช้า เพราะไม่ได้แสดงอาการเหนื่อยออกมา จนเมื่อวันหนึ่งที่รู้สึกเหนื่อยแม้ไม่ได้ทำอะไร นั่นหมายความว่าอาการค่อนข้างหนักแล้ว ตัวโรคเป็นเยอะแล้วครับ”

“ผมจึงอยากแนะนำให้ตรวจเช็กร่างกายสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในคนที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจโดยตรง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ หรือเป็นคนสูบบุหรี่ ควรตรวจหัวใจร่วมไปกับการตรวจสุขภาพด้วย”

คุณหมอทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ดีที่สุดที่ทำได้แต่เนิ่น ๆ คือการดูแลสุขภาพตัวเอง เลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกาย และดูแลจิตใจไม่ให้เครียด ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจได้ ที่สำคัญคือการตรวจเช็กสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพราะการตรวจเจอเร็ว ก็จะยิ่งง่ายต่อการรักษา อาจไม่ต้องผ่าตัด สามารถใช้วิธีรักษาอื่นที่มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน แพทย์ทำงานง่ายขึ้น ไม่บั่นทอนสุขภาพของคนไข้จนเกินไป หรือหากต้องผ่าตัดรักษาก็จะมีทางเลือกมากขึ้น ความเสี่ยงที่จะเสียชีวิต หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงก็จะต่ำนั่นเอง


ดูแลสุขภาพ: ผ่าตัดหัวใจ การตัดสินใจที่คุ้มค่า เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://www.healthyhitech.net/