มะเร็งเยื่อบุมดลูก เป็นมะเร็งที่พบได้น้อยกว่ามะเร็งปากมดลูกและมะเร็งรังไข่ มักตรวจพบโรคในระยะแรก ๆ และได้รับการดูแลรักษาได้ผลดี เนื่องจากผู้ป่วยมักมีอาการเลือดออกทางช่องคลอดตั้งแต่เป็นมะเร็งระยะแรก
พบมากในช่วงอายุ 40-60 ปี
สาเหตุ
ยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับความไม่สมดุลของฮอร์โมนทำให้มีระดับเอสโทรเจนสูง
พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งชนิดนี้ ได้แก่
การมีกรรมพันธุ์ที่ผิดปกติ
การมีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี
ภาวะไม่มีบุตร หรือมีบุตรเมื่ออายุมาก
ภาวะอ้วน หรือเป็นเบาหวาน
การบริโภคไขมันสัตว์มาก
การตกไข่ไม่สม่ำเสมอ (เช่น กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่ชนิดหลายถุง)
การได้รับฮอร์โมนทดแทนในวัยหมดประจำเดือนด้วยเอสโทรเจนล้วน ๆ (ไม่มีโพรเจสเทอโรนผสม) เป็นเวลานาน
เคยได้รับการฉายรังสีบริเวณเชิงกราน
การใช้ยาต้านเอสโทรเจน (เช่น tamoxifen ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษามะเร็งเต้านม)
อายุมาก (มักพบโรคนี้ในหญิงหลังวัยหมดประจำเดือน)
การมีประวัติโรคมะเร็งเยื่อบุมดลูก มะเร็งเต้านม หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว
อาการ
มักมีอาการมีเลือดประจำเดือนออกมากหรือนานผิดปกติ มีของเหลวสีชมพูหรือสีขาวออกทางช่องคลอด หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดหลังวัยหมดประจำเดือน ปวดท้องน้อย
บางรายอาจมีอาการเจ็บปวดขณะถ่ายปัสสาวะหรือร่วมเพศ น้ำหนักลด ซีดจากการเสียเลือด อาจคลำได้ก้อนที่บริเวณท้องน้อย
ภาวะแทรกซ้อน
อาจเกิดภาวะซีดเนื่องจากการมีเลือดออกเรื้อรังทางช่องคลอด
หากปล่อยปละละเลยมะเร็งอาจลุกลามไปที่กระเพาะปัสสาวะ ทวารหนัก ช่องคลอด ท่อรังไข่ รังไข่ และแพร่กระจายผ่านกระแสเลือดไปที่อวัยวะอื่น ๆ (เช่น ปอด ตับ กระดูก) ทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนของอวัยวะต่าง ๆ ที่มะเร็งแพร่กระจายไป เช่น ขับถ่ายลำบาก ถ่ายเป็นเลือด เจ็บปวดขณะถ่ายปัสสาวะหรือร่วมเพศ ปวดท้อง ท้องมาน เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ปวดกระดูก ปวดหลัง น้ำหนักลด ตัวเหลืองตาเหลือง เป็นต้น
การวินิจฉัย
แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการตรวจเซลล์มะเร็งที่เก็บจากช่องคลอดจากการขูดมดลูก หรือใช้กล้องส่องตรวจโพรงมดลูก (hysteroscopy) แล้วตัดเยื่อบุมดลูกนำไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ
หากพบว่าเป็นมะเร็งก็จะทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่าง ๆ (เช่น เอกซเรย์, อัลตราซาวนด์,เอกซเรย์คอมพิวเตอร์, การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า-MRI, การตรวจเพทสแกน- PET scan เป็นต้น) เพื่อประเมินว่าเป็นมะเร็งระยะใด
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัดมดลูกพร้อมทั้งรังไข่และท่อนำรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง
ในรายที่มดลูกโตขนาดเท่าครรภ์ 8 สัปดาห์ อาจทำการฉายรังสีหรือใส่แร่เรเดียมก่อนผ่าตัด
ในรายที่มะเร็งแพร่กระจายออกจากช่องเชิงกราน อาจต้องให้เคมีบำบัด และ/หรือฮอร์โมนบำบัด (เช่น โพรเจสเทอโรนสังเคราะห์)
ผลการรักษา มักจะได้ผลดี เนื่องจากผู้ป่วยมักมีอาการเลือดออกตั้งแต่เป็นมะเร็งระยะแรก จึงทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ได้เร็วและได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปี ร้อยละ 75-90
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีอาการมีเลือดประจำเดือนออกมากหรือนานผิดปกติ มีเลือดออกทางช่องคลอดหลังวัยหมดประจำเดือน ปวดท้องน้อย มีอาการเจ็บปวดขณะถ่ายปัสสาวะหรือร่วมเพศ ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเยื่อบุมดลูก ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
หลีกเลี่ยงการซื้อยามากินเอง
หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช โปรตีนที่มีไขมันน้อย (เช่น ปลา ไข่ขาว เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง)
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
ออกกำลังกายและทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งงานอดิเรกที่ชอบ และงานจิตอาสา เท่าที่ร่างกายจะอำนวย
ทำสมาธิ เจริญสติ หรือสวดมนต์ภาวนาตามหลักศาสนาที่นับถือ
ถ้ามีโอกาสควรหาทางเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน หรือกลุ่มมิตรภาพบำบัด
ผู้ป่วยและญาติควรหาทางเสริมสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วย ยอมรับความจริง และใช้ชีวิตในปัจจุบันให้ดีและมีคุณค่าที่สุด
ถ้าหากมีเรื่องวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคและวิธีบำบัดรักษา รวมทั้งการแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร ยาหม้อ ยาลูกกลอน การนวด ประคบ การฝังเข็ม การล้างพิษ หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
มีอาการไม่สบายหรืออาการผิดปกติ เช่น มีไข้ อ่อนเพลียมาก หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ชัก แขนขาชาหรืออ่อนแรง ซีด มีเลือดออก ปวดท้อง ท้องเดิน อาเจียน เบื่ออาหารมาก กินไม่ได้ ดื่มน้ำไม่ได้ เป็นต้น
ขาดยาหรือยาหาย
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
ยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดมะเร็งเยื่อบุมดลูกที่ได้ผล อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งชนิดนี้ด้วยการปฏิบัติ ดังนี้
ถ้าจำเป็นต้องให้ฮอร์โมนทดแทนในวัยหมดประจำเดือน ควรให้ฮอร์โมนผสมเอสโทรเจนกับโพรเจสเทอโรน ไม่ควรให้เอสโทรเจนเพียงอย่างเดียว เพราะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเยื่อบุมดลูก
การกินยาเม็ดคุมกำเนิดช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ในช่วงหลังวัยหมดประจำเดือน แต่เนื่องจากยานี้มีผลข้างเคียงหลายอย่าง หากต้องการกินยานี้เพื่อป้องกันมะเร็งเยื่อบุมดลูก ควรปรึกษาแพทย์
ออกกำลังกายเป็นประจำ
ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ลดการบริโภคไขมันสัตว์
ข้อแนะนำ
1. ผู้หญิงที่มีเลือดประจำเดือนออกมากหรือนานผิดปกติ หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดหลังวัยหมดประจำเดือน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด พึงอย่าชะล่าใจว่าไม่เป็นไร
2. ปัจจุบันมีวิธีบำบัดรักษาโรคมะเร็งใหม่ ๆ ที่อาจช่วยให้โรคหายขาดหรือทุเลา หรือช่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ผู้ป่วยจึงควรติดต่อรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง มีความมานะอดทนต่อผลข้างเคียงของการรักษาที่อาจมีได้ อย่าเปลี่ยนแพทย์ เปลี่ยนโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น หากสนใจจะแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี
โรคมะเร็งเยื่อบุมดลูก (Endometrial cancer) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/